‘รมช.มนัญญา’ ยืนยันไม่มีการหยุดรับซื้อน้ำนมดิบ เผยตลาดยังต้องการสูง สอดคล้องแผนปฏิบัติการด้านโคนมของประเทศ เป้าหมายให้คนไทยดื่มนมไม่น้อยกว่า 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2570

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือข้อเท็จจริงปัญหาการขาดแคลนน้ำนมดิบในประเทศ กรณีที่มีการนำเสนอข่าวในขณะนี้ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ได้แก่

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 135)

ซึ่งที่ประชุมได้หารือในประเด็นสถานการณ์ขาดแคลนน้ำนมดิบที่กระทบกับความต้องการของตลาดในประเทศ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและไม่ให้กระทบกับการผลิตนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ว่า

จากกรณีที่มีสื่อนำเสนอข่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหายกเลิกกิจการฟาร์มเลี้ยงโคนม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงและไม่นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากการประชุมหารือที่ประชุมได้รายงานและยืนยันว่า

ปัจจุบันยังมีการรับซื้อน้ำนมดิบอย่างต่อเนื่องจาก อ.ส.ค. และภาคเอกชน โดยไม่มีการหยุดรับซื้อน้ำนมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัจจุบันผลผลิตน้ำนมดิบทั้งประเทศลดลงอยู่ที่ราว 2,700 ตัน/วัน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล โดยที่ปริมาณน้ำนมจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในข่วงท้ายปีที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว

จากที่มีความต้องการใช้ไม่น้อยกว่า 3,100 ตัน/วัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงประมาณ 400 ตัน

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบางส่วนเลิกเลี้ยง หันไปประกอบอาชีพอื่น จึงเป็นเหตุให้ปริมาณโคนมในระบบลดลง และทำให้ปัจจุบันน้ำนมดิบเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนมอย่างมาก

โดยเรื่องนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้กระทบกับปริมาณน้ำนมที่ต้องใช้ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ที่ต้องใช้วันละประมาณ 1,000 ตัน/วัน

นอกจากนั้น ในอนาคตต้องส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคนมมากขึ้น และเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้เป็น Smart Farmer มีการเลี้ยงโคนมในเชิงธุรกิจให้มากขึ้นด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหาร (น้ำนม) สำหรับคนไทย

“ในการหารือในที่ประชุมพบว่า ตัวเลขเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์ราคาอาหารสัตว์ในตลาดโลกที่สูงขึ้น รวมถึงรูปแบบการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรรายย่อยในไทยที่เลี้ยงวัวหลากหลายในฟาร์มของตนเอง

ทั้งวัวให้นม วัวไม่ให้นม วัวรุ่น วัวสาว วัวผสมไม่ติด หรือที่เรียกว่าวัวกินฟรี ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกเพิ่ม ส่งผลต่อรายได้ของฟาร์มที่ลดลง ดังนั้นในอนาคตจะต้องมีโครงการที่เหมาะสมสำหรับรองรับโคที่ไม่ให้ผลผลิตดังกล่าวมาจัดการในรูปแบบเฉพาะ ภายใต้โครงการช่วยเหลือของรัฐบาล และภาคธุรกิจ

ขณะเดียวกันปัญหาอีกส่วนพบว่า มาจากคุณภาพอาหารสัตว์ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมดิบ โดยในเรื่องนี้กรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการในการพัฒนาอาหารสัตว์คุณภาพและการเพิ่มพื้นที่แปลงหญ้าเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย

ซึ่งกรมปศุสัตว์รายงานว่า ตามแผนปฏิบัติการด้านโคนมและผลิตภัณฑ์นม มีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนบริโภคนมไม่น้อยกว่า 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2570 ซึ่งจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบให้ได้ 4,500 ตัน/วัน

จึงเห็นได้ว่ายังเป็นโอกาสที่ดีในการหันมาทบทวนแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมทั้งระบบในประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมโคนมของไทยได้รับการยอมรับในภูมิภาคอาเซียน” รมช.มนัญญา กล่าว

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์รายงานว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ส่งน้ำนมดิบให้กับศูนย์รวบรวมและรับซื้อน้ำนมดิบ ที่มีอยู่ 210 แห่ง ประเทศ จำนวน 16,255 ราย ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% และมีจำนวนโคนมทั้งฝูง 618,172 ตัว แยกเป็น จำนวนแม่โครีดนม 261,230 ตัว (ข้อมูลระหว่างเดือน มกราคม – มิถุนายน 2566) จากก่อนหน้าสถานการณ์โควิด 19 มีโคนมอยู่ราว 800,000 ตัว

โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อยที่แบกรับต้นทุนไม่ไหว ทั้งนี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบ ณ โรงงาน ครั้งที่ 1 เสนอขอเพิ่ม 1.50 บาท (จากเดิมราคา 19.00/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 20.50 บาท/กิโลกรัม)

และครั้งที่ 2 เสนอขอเพิ่ม 2.25 บาท เป็น 22.75 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะต้องรอขอความเห็นชอบของ ครม. ในรัฐบาลชุดถัดไป นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ขับเคลื่อนโครงการขยายพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ 50,000 ไร่ ซึ่งมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการ 13,809 ราย พื้นที่ 57,065 ไร่

ด้าน อ.ส.ค. รายงานว่า อ.ส.ค. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ส่งนมให้ อ.ส.ค. โดยช่วยเหลือในรูปแบบค่าขนส่ง ในราคา 1.20 บาท/กิโลกรัม จึงทำให้ต้นทุนของ อ.ส.ค. เพิ่มขึ้น ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ รายงานว่า

ปัจจุบันสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ ได้ช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ที่นำนมมาขายในรูปแบบค่าขนส่งเช่นกัน ในราคา 1.20 – 2 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามหาก ครม.อนุมัติการเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบตามที่ Milk Board เสนอ ก็จะสามารถช่วยชดเชยในส่วนนี้ได้

Written By
More from pp
Naked Skin โดย แมท ภีรนีย์ เปิดตัวสกินแคร์น้องใหม่ ‘Pineapple Jam Facial Cleanser’ ครั้งแรก! ของคลีนเซอร์เนื้อแยมสับปะรด เพื่อผิวกระจ่างใสจากธรรมชาติ
Naked Skin โดย แมท ภีรนีย์ เปิดตัวสกินแคร์น้องใหม่ ‘Pineapple Jam Facial Cleanser’ ครั้งแรก! ของคลีนเซอร์เนื้อแยมสับปะรด เพื่อผิวกระจ่างใสจากธรรมชาติ เปิดตัวสุดเอ็กซ์คลูซีฟก่อนใครบนช้อปปี้ พร้อมอัดโปรฉลองมหกรรม Shopee...
Read More
0 replies on “‘รมช.มนัญญา’ ยืนยันไม่มีการหยุดรับซื้อน้ำนมดิบ เผยตลาดยังต้องการสูง สอดคล้องแผนปฏิบัติการด้านโคนมของประเทศ เป้าหมายให้คนไทยดื่มนมไม่น้อยกว่า 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2570”