เนื่องในวาระครบรอบ 28 ปี แห่งการสวรรคตของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัดพิธีบำเพ็ญกุศลและพิธีถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นการถวายความเคารพอย่างสูงสุดตามประเพณีล้านนาเชียงราย
นำโดยคณะกรรมการและผู้บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนกว่า 3,000 คน จากหน่วยงานต่างๆ กว่า 100 ภาคส่วน
จัดขบวนตุงและขันดอกอันเป็นพุ่มดอกไม้เครื่องสักการะแบบล้านนาสุดวิจิตร ร่วมกันถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จย่า ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566
นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และหน่วยงานในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ ตัวแทนทหาร ตำรวจ หน่วยงานป่าไม้ สถานีป้องกันไฟป่าดอยตุง และชุมชน ยังได้ร่วมกันทำกิจกรรมปลูกป่า จำนวน 17,490 ต้น บนพื้นที่กว่า 125 ไร่ บริเวณป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนบ้านผาบือ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
โดยเป็นการปลูกป่าเสริมเพื่อพลิกฟื้นป่าดั้งเดิมที่เสียหายจากไฟป่าไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีพันธุ์ไม้ยืนต้นที่นำมาปลูกกว่า 21 ชนิด อาทิ ก่อแป้น คอแลน มะคำดีควาย ยางนา ต้นไทร มะขามป้อม มะม่วงป่า โมก ประดู่ส้ม มะกอก เป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการดูแลแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ช่วยรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ สืบสานพระราชปณิธานให้ “คนกับป่าอยู่ร่วมกัน” ของสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) และทรงเป็นสมเด็จพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงงานอย่างทุ่มเทเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล
พระองค์ทรงตระหนักดีถึงความยากลำบาก การขาดโอกาสในชีวิต รวมถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจึงมีบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้าไปร่วมตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยด้วย และทรงนำเครื่องนุ่งห่ม อาหาร สิ่งของที่จำเป็น และของเล่นสำหรับเด็กเข้าไปพระราชทานให้แก่คนในพื้นที่
ในสายตาของชาวไทยภูเขา พระองค์เปรียบเสมือนเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยาก เขาเหล่านั้นจึงถวายพระสมัญญา “แม่ฟ้าหลวง” สะท้อนถึงความเคารพรักบูชาจากหัวใจชาวไทยภูเขาทุกคน
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงงานอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ยากไร้และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จวบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 พระชนมายุ 94 พรรษา