รอบ ๒ “วาสนาไม่มาถึง” – เปลว สีเงิน

คลิกฟังบทความ..⬇️

เปลว สีเงิน

วันนี้ “๑๙ กรกฏา.” มีเรื่องให้ลุ้น ๒ เรื่อง
เรื่องแรก ลุ้นการโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ รอบ ๒
ลุ้นที่สอง ลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องคดี “พิธา-หุ้นสื่อ” ไว้วินิจฉัยหรือไม่?
แต่สำหรับผม มีลุ้นเดียว คือลุ้นเรื่องหุ้นสื่อ
ส่วนเรื่องโหวตพิธา รอบ ๒ ไม่ลุ้น

เพราะผมมองว่าญัตตินี้ “ตกไปแล้ว” ตั้งแต่ประชุมครั้งแรก เมื่อ ๑๓ กรกฏา.ที่พิธาไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกทั้งสองสภา คือ ๓๗๖ เสียง

ก็ต้องดูว่า ท่านประธานวันนอร์จะเอายังไง เพราะตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๑ กำหนดว่า

“ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว….
ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน….ฯลฯ”

แต่รัฐธรรมนูญ “ฉบับส้ม” บอกว่าการโหวตเลือกนายกฯ “ไม่เป็นญัตติ”
เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ทั้งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องโหวตกี่รอบ

ฉะนั้น จะโหวตซักร้อยรอบ-พันรอบก็ได้!?

แต่เท่าที่ผมดูตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ๒๕๖๓ ประกอบความคิดเห็นนักกฎหมายบางท่าน

ผมมีมุมมองว่า….
ภายใน ๕ ปีแรกนี้ การโหวตเลือกนายกฯ จะดูตามรัฐธรรมนูญเฉพาะมาตรา ๑๕๙ ไม่ได้
ต้องดูมาตรา ๒๗๒ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาควบคู่ไปด้วย

มาตรา ๒๗๒ บอกว่า….

“ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๙

เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม

ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง…..

หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ไม่ว่าด้วยเหตุใด

และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา

ขอให้รัฐสภามีมติ ยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน

และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้

ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ หรือไม่ก็ได้”

ก็จะเห็นว่า การโหวตนายกฯ ต้องยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๙ และ มาตรา ๒๗๒ ประกอบกัน

แต่ฝ่ายรัฐธรรมนูญส้ม ตีขลุมเฉพาะมาตรา ๑๕๙ แล้วโมเมว่า โหวตนายกฯ ไม่เป็นญัตติ เพราะทำตามรัฐธรรมนูญ

ใช่…ทำตามรัฐธรรมนูญ….
แต่วรรคสอง ของมาตรา ๑๕๙ บอกว่า

“การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด…..”

การต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองในการเสนอชื่อ
นั่นแหละที่เรียก “ญัตติ”!

ถ้าไม่มีผู้เสนอเป็นญัตติ ประธานรัฐสภาหรือสมาชิกรัฐสภา จะหยิบยกชื่อผู้นั้นๆ ขึ้นมาโหวตกันเองได้อย่างไร?

ในกรณีนี้…..
“ประธานรัฐสภา” เป็นเพียง “ผู้เสนอเรื่อง” ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ “ผู้เสนอชื่อ” ขึ้นมาให้โหวต

การเสนอชื่อ ต้อง “สมาชิกรัฐสภา” เท่านั้น เป็นผู้เสนอ
ถามว่า แล้วเอาตรงไหนมาบอกว่า “เป็นญัตติ”?

ก็ตรงการเสนอชื่อ ที่ต้องมีสมาชิกรับรอง ตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสองนั่นแหละ
การที่ต้องมีผู้รับรองการเสนอ นั่นละคือ “ญัตติ”!

และญัตตินั้น มันก็ “ตกไปแล้ว” เมื่อ ๑๓ กค.

ซึ่งตามข้อบังคับ “ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”

ฉะนั้น ในความเห็นผม วันนี้-๑๙ กค.จะเสนอชื่อพิธาให้สมาชิกรัฐสภาโหวตอีกไม่ได้!
เมื่อไม่ได้ จะทำยังไงในขั้นตอนต่อไป?

ก็ต้องเดินตามมาตรา ๒๗๒ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด ๙ ว่าด้วย “การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี” ข้อ ๑๓๘ และ ๑๓๙

ข้อ ๑๓๘ ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าด้วยเหตุใด

และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภา

เพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น
ไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ

ให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นเรื่องด่วนในการพิจารณาญัตติตามวรรคหนึ่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา และลงมติว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับญัตติดังกล่าว

โดยการออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย และมติเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ข้อ ๑๓๙ ในกรณีที่รัฐสภามีมติยกเว้นตามข้อ ๑๓๘ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมรัฐสภา

โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ และให้นำ ความในข้อ ๑๓๖ และข้อ ๑๓๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถอดความตามประสาชาวบ้าน ก็คือ….
โหวตพิธาเป็นนายกฯ มันตกไปแล้ว ตั้งแต่ ๑๓ กค.จะเอามาโหวตซ้ำอีกไม่ได้ ฌาปนกิจละก็ได้

ขั้นตอนที่จะทำได้ต่อจากนั้น ก็ตามวรรคสอง ของมาตรา ๒๗๒ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ ๑๓๘-๑๓๙
คือ ให้สมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า ๓๗๕ คน เข้าชื่อ “เสนอญัตติ” ต่อประธานรัฐสภา

“ให้ยกเว้น” ไม่ต้องเสนอชื่อว่าที่นายกฯ ของแต่ละพรรคได้
ประธานรัฐสภารับเรื่องปุ๊บ ต้องประชุมรัฐสภาปั๊บ

ถ้าที่ประชุมเห็นชอบ ด้วยเสียงไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ในจำนวน ๗๕๐ ของทั้งสองสภา
ทีนี้แหละ….

จะเอา “คนนอก” มาเสนอโหวตเป็นนายกฯ ก็ได้ หรือจะเอาจาก “บัญชีรายชื่อนายกฯ” ของพรรคก็ได้

ภายใต้กฎเกณฑ์มาตรา ๒๗๒ วรรคแรก คือ คนนั้น ต้องได้เสียงสนับสนุนตั้งแต่ ๓๗๖ เสียงขึ้นไป จึงจะได้เป็นนายกฯ
ตามเจตนารมณ์ผู้ร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นเช่นนี้

ไม่มีใครฟั่นเฟือนเขียนรัฐธรรมนูญ “ชื่อเดียว-คนเดิม” ให้โหวตกันไปจนกว่าจะตายจากหรอก ถึงจะเลิก!

เช้านี้ ก็คงถกกันหลายยก กว่าจะได้ข้อสรุป ว่าจะเป่าตูดพิธาให้เป็นนายกฯ กันต่อไป

หรือต้องเดินตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง “เปิดกว้างในทางตัน” เอา “คนนอก” หรือ “คนใน” รายอื่นๆ เสนอให้โหวตก็ได้

ในโลกนี้ ไม่มีอะไรบังเอิญ…
นายกฯ คนที่ ๓๐ ก็เช่นกัน แค่ ๑๔ ล้านเลือก

อย่าทำสะเอือกกับคนอีก ๕๐ กว่าล้าน
……..ที่ไม่เลือก (มึง)!

เปลว สีเงิน

๑๙ กรกฏาคม ๒๕๖๖

Written By
More from plew
ในเส้นทาง “เสี่ยงทาย” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน เมื่อ “ท้าวสหัมบดีพรหม” เสด็จมาบูชา “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” และสถิตประทับ ณ ดวงเมืองสยามประเทศ ขณะนี้ ใครๆ ที่เคยตัดพ้อ…
Read More
0 replies on “รอบ ๒ “วาสนาไม่มาถึง” – เปลว สีเงิน”