“ก้าวไกล” ออกแถลงการณ์ กกต. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ อาจผิดมาตรา 157

12 กรกฎาคม 2566 พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีที่เมื่อเช้าวันนี้ ที่ประชุม กกต. มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงหรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น

พรรคก้าวไกลเห็นว่า ในกรณีนี้ กกต. ดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด

ในประเด็นนี้ อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เคยอธิบายแก่สื่อมวลชนว่า คดีนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 มิใช่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบที่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน

ประธาน กกต. ยังอธิบายอีกว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 กำหนดว่า ในกรณีที่ กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. คนใดมีเหตุสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ สอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึง คดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลเห็นว่า เมื่อพิจารณาระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วเห็นว่า สิ่งที่ประธาน กกต. กล่าวนั้น ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง สำหรับคดีหุ้นไอทีวี ไม่อาจนำกรณีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2563 (คดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่) มาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงคดีหุ้นไอทีวีได้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ

(1) คดีตามคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 93 กำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดรองรับหลักเกณฑ์ไว้ในลักษณะทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 และมาตรา 93

ทั้งนี้ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 55 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวางหลักว่า การนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม มิได้หมายความว่าจะต้องนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับทุกข้อ แต่เป็นกรณีที่นำมาใช้เมื่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มิได้กำหนดไว้ เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ในคดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เป็นกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนไม่จำต้องแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องก่อนแต่อย่างใด

แต่ข้อเท็จจริงในคดีหุ้นไอทีวี เป็นคดีการเสนอคำร้องตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 82 ประกอบมาตรา 101 (6) และมาตรา 98 (3) มิใช่เป็นการนำบทบัญญัติมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่คดี

ดังนั้น จึงไม่อาจนำแนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในคดีเงินกู้มาใช้กับคดีหุ้นไอทีวีได้

(2) ในคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล แล้วนำเสนอต่อ กกต. แต่ปรากฏว่า กกต. ไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาต่อพรรคอนาคตใหม่แต่อย่างใด

แต่ข้อเท็จจริงในคดีหุ้นไอทีวีนั้น ถ้าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีความเห็นว่าข้อเท็จจริงมีมูลตามคำร้อง ย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 54 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (แก้ไขเพิ่มเติม 2563) ต่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ครบถ้วนเสียก่อนที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะทำรายงานการสืบสวนเสนอต่อเลขาธิการ กกต. และ กกต.

ประการที่สอง ข้อเท็จจริงในคดีหุ้นไอทีวี เป็นกรณีที่ความปรากฏต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) และรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) อันเป็นเหตุให้ กกต. อาจยื่นคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 ข้อ 85 วรรคห้า บัญญัติว่า “ภายหลังประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแล้ว คณะกรรมการเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องหรือส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยต่อไป”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดกระบวนการขั้นตอนรองรับอย่างชัดเจนตั้งแต่การยื่นคำร้อง การตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน และการวินิจฉัยของ กกต.

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวมาโดยตลอด ในกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนพอฟังได้ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ย่อมต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบฯ ข้อ 54 และเปิดโอกาสให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้แจงข้อกล่าวหาตามข้อ 57 และข้อ 58 แห่งระเบียบฉบับเดียวกัน

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การที่ กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 82 กกต. จะต้องปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วนดังที่กล่าวไปเสียก่อน

ดังนั้น การที่ กกต. เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างรีบเร่ง ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามายังพิธา และไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าเป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ พรรคก้าวไกลเห็นว่า กรณีนี้จึงเท่ากับว่า กกต. เลือกปฏิบัติตามระเบียบแต่เพียงบางส่วน และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนได้ตราขึ้นให้ครบถ้วนถูกต้อง อันอาจเป็นการกระทำผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ประการสุดท้าย กรณีนี้มีข้อสังเกตได้ว่า ทำไม กกต. ถึงรีบเร่งดำเนินการในคดีหุ้นไอทีวีอย่างผิดปกติ ทั้งๆ ที่เรื่องไอทีวี ก่อนหน้านี้มีข้อพิรุธและข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า ตกลงไอทีวียังดำเนินธุรกิจสื่ออยู่หรือไม่ มีขบวนการจงใจจัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารงบการเงินให้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่

แต่ กกต. กลับรีบประชุม 3 วันติดต่อกัน เพื่อเร่งสรุปให้ได้ว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อว่าพิธามีความผิดตามที่มีการยื่นคำร้องจริง

ทั้งนี้ ทราบมาว่า ทาง กกต. ได้เชิญให้ผู้บริหารไอทีวีมาชี้แจงต่อ กกต. แล้ว และผู้บริหารไอทีวีก็ได้ให้ข้อมูลว่า ไอทีวีไม่ได้ดำเนินธุรกิจสื่อ ดังนั้น แม้ กกต. จะพยายามอ้างเหตุผลมากมายว่าไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหาต่อพิธาเพื่อให้พิธามาชี้แจงก่อน แต่คำถามคือ ในขณะที่ กกต. ยังมีเวลาเชิญไอทีวีไปชี้แจง แล้ว กกต. มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ยอมเสียเวลาให้พิธาไปชี้แจงบ้าง เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างรอบด้านเป็นธรรม นอกจากนี้ หากผู้บริหารไอทีวีได้แจ้งต่อ กกต. ว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจสื่อจริง กกต. ใช้ข้อมูลหลักฐานอะไรที่นำไปสรุปว่าเชื่อได้ว่าพิธามีความผิดตามที่มีการยื่นคำร้องจริง

ความเร่งรีบผิดปกติ ยังเห็นได้จากการที่หลังจาก กกต. มีมติเมื่อเช้านี้ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ก็รีบมอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันทีวันนี้

เช่นนี้ กกต. มีเจตนาที่จะ ‘ส่งลูกต่อ’ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมประจำสัปดาห์ในช่วงบ่ายเพื่อให้พิธาถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. วันนี้ ก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) ใช่หรือไม่

Written By
More from pp
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดกิจกรรม “Conversation with Curators” นิทรรศการผ้าบาติกออนไลน์ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา”
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เปิดนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” ซึ่งมีการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงใหม่เป็นครั้งที่ ๓ ให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมความงดงามของผ้าบาติกในรัชกาลที่ ๕ จากเมืองต่าง ๆ บนเกาะชวาอย่างทั่วถึงทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา 
Read More
0 replies on ““ก้าวไกล” ออกแถลงการณ์ กกต. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ อาจผิดมาตรา 157”