พิธาพบสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ แสดงวิสัยทัศน์ตอบ 4 โจทย์ท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิด ผู้ประกอบการอยากเห็น “พิธา” เป็นแอมบาสเดอร์ให้กับคนท่องเที่ยวในอนาคต

พิธาพบสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ แสดงวิสัยทัศน์ตอบ 4 โจทย์ท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิด ผู้ประกอบการขอจัดตั้งรัฐบาลราบรื่น-รวดเร็ว ยืนยันข้อเสนอให้ ‘พิธา’ เป็นแอมบาสเดอร์การท่องเที่ยว 

1 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร  ส.ส.กรุงเทพมหานคร (คลองสาน ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ) พรรคก้าวไกล, และศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมประชุมกับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยและรับฟังข้อเสนอแนะด้านนโยบายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จากตัวแทนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ในส่วนเวทีพูดคุยนั้น ตัวแทนภาคการท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเสนอแนะต่อพิธาในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มการอำนวยความสะดวกของภาครัฐในการเข้าออกประเทศของนักท่องเที่ยว การปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค การออกกฎหมายด้านความปลอดภัย การให้มีกรรมการกำหนดราคากลางสินค้าและบริการการท่องเที่ยว การสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ การปรับเกณฑ์วีซ่า การจัดแอลกอฮอล์โซนนิ่ง การส่งเสริมธุรกิจบันเทิง เป็นต้น

หลังรับฟังข้อเสนอของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ พิธาได้กล่าวสรุปพร้อมข้อแลกเปลี่ยนด้านนโยบาย โดยระบุว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์ร่วมกับภาคการท่องเที่ยวมาตั้งแต่เป็นภาคเอกชน และในฐานะ ส.ส. ก็ได้เห็นทั้งงบประมาณของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แผนบูรณาการท่องเที่ยว รวมทั้งงบประมาณท่องเที่ยวของผู้ว่าราชการจังหวัด

สิ่งที่เราต้องการคือจินตนาการการท่องเที่ยวไทยแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค

ระดับมหภาค : จะเห็นได้ว่าภาพของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยก่อนและหลังโควิดไม่เหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและประเทศต้นทาง ภาพรวมการท่องเที่ยวหลังโควิดวันนี้เมื่อเทียบกับทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยยังคงหายไปถึง 38% แม้การท่องเที่ยวของชาวจีนฟื้นกลับมาเท่าก่อนโควิดแล้ว แต่กลายเป็นการเน้นเที่ยวในประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวขาออกไปต่างประเทศยังไม่ฟื้น

หากเรายังอยากที่จะพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเหมือนเดิม ก็ต้องไปดูในรายละเอียด ว่าเป็นปัญหาที่การทำวีซ่าในฝั่งไทยหรือเป็นปัญหาอื่นใดทางฝั่งจีนหรือไม่ นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดถึงการจัดพอร์ตโฟลิโอในระดับมหภาคใหม่

ระดับจุลภาค : การท่องเที่ยวไทยคิดเป็นกว่า 20% ของจีดีพีก็จริง แต่ส่วนใหญ่ตกกับรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งนโยบายเมืองรองที่ผ่านมาก็ยังทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ปัจจุบัน 75% ของนักท่องเที่ยวยังคงกระจุกใน 5 เมืองใหญ่ ทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ไม่นาน ใช้เงินไม่เยอะ

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายด้านอุปสงค์และอุปทานด้านการท่องเที่ยว เพราะจากข้อมูลที่หลายฝ่ายยืนยันมาตรงกัน โครงสร้างพื้นฐานด้านบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ และแรงงานอื่นๆ ในภาคการท่องเที่ยวกำลังขาดแคลนมาก นั่นคืออุปทานที่ไม่พอรองรับอุปสงค์ ดังนั้น แม้จะมีการเสริมและพัฒนาทักษะ (Upskill) หรือสร้างทักษะใหม่ (Reskill) แต่หากไม่สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวได้ ต่อให้นำนักท่องเที่ยวเข้ามาเท่าไรก็ไม่ยั่งยืน

พิธากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นความท้าทายในภาคการท่องเที่ยวปัจจุบันนี้ อาจแบ่งได้เป็น ‘4 ส.’ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคมสูงวัย สุขภาพ และส่วย ซึ่งเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสในการยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทย เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย สามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสสำหรับการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุได้

ส่วนสิ่งที่จะมาตอบโจทย์ คือ ‘4 ท.’ ได้แก่ ท้องถิ่น เทคโนโลยี ทักษะ และ ทัวร์รูท

– ‘ท้องถิ่น’ คือการสนับสนุนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวภายใต้โครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากคนพื้นที่ มากกว่าหน่วยงานภายใต้โครงสร้างผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งมาจากนอกพื้นที่

– ‘เทคโนโลยี’ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ จะทำให้เราสามารถวางแผนในอนาคตได้ เช่น ข้อมูลจากแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม ที่จะทำให้ทราบถึงการเดินทางหรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมใหม่ๆ

– ที่สำคัญคือ ‘ทัวร์รูท’ หรือการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ให้ถึงเมืองรอง ทำให้เมืองรองเป็นเมือง ‘ต้องลอง’

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย งบประมาณ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็ต้องได้รับแก้ไข พรรคก้าวไกลเองมีนโยบายอยู่แล้ว ที่จะแก้ไขกฎหมายและระเบียบหลายฉบับ เช่น ที่เกี่ยวกับโฮมสเตย์และโรงแรมขนาดเล็ก เมื่อใบอนุญาตน้อยลง ดุลพินิจน้อยลง การทุจริตเรียกรับส่วยก็จะลดลงตาม

ทางด้าน ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่าสิ่งที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เรียกร้อง

(1) การจัดตั้งรัฐบาลควรเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เพราะภาคธุรกิจรอไม่ได้อีกแล้ว การดำเนินนโยบายหลายส่วนต้องใช้งบประมาณในการเดินหน้า

(2) ต้องมีการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐใหม่ ว่าตนเป็นผู้ให้บริการ ไม่ใช่ผู้สั่งการบังคับการ

(3) ที่สำคัญ ขอให้อย่ามีคอขวดในการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเข้าเมืองของนักท่องเที่ยว

(4) อย่าให้มีส่วย

ชำนาญยังระบุต่อไปว่า “ขอเพียงภาครัฐโอเค สนามบินโอเค ท่าเรือโอเค นี่จะเป็นฮันนีมูนไทม์ของประเทศ จะไม่มีใครแข่งขันเราได้ ถ้าวางแผนดีๆ ท่องเที่ยวจะเพิ่มจีดีพีประเทศได้แน่นอน และสุดท้ายอยากเห็นพิธาเป็นแอมบาสเดอร์ให้กับคนท่องเที่ยวในอนาคตด้วย”

Written By
More from pp
อนุสรณ์ แนะ แก้ รธน. มาตรา 272 นำความเป็นธรรมกลับสู่ประเทศ
16 ตุลาคม 2565-นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทอล์กโชว์เดี่ยว 13 ของโน้ส อุดม แต้พานิช ว่า
Read More
0 replies on “พิธาพบสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ แสดงวิสัยทัศน์ตอบ 4 โจทย์ท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิด ผู้ประกอบการอยากเห็น “พิธา” เป็นแอมบาสเดอร์ให้กับคนท่องเที่ยวในอนาคต”