26 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมประชุม
โดยที่ประชุมฯ รับทราบความก้าวหน้าการจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย (ดอนเมือง) จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผลการดำเนินงานของ 8 จังหวัดที่มีการขับเคลื่อนกลไกส่งต่อระดับชาติ พร้อมทั้งรับทราบรายสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 2566 (TIP Report) โดยประเทศไทยอยู่ระดับเทียร์ 2 เช่นเดียวกับปี 2565
ซึ่งภาพรวมเห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นโดยรวม ทั้งความคืบหน้าคดี การสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง การอบรมเจ้าหน้าที่และขับเคลื่อนกลไกส่งต่อระดับชาติ (NRM) อย่างไรก็ตาม ยังพบความพยายามในการปฏิบัติการขับเคลื่อนขจัดการค้ามนุษย์ที่ยังไม่มากพอและครบถ้วน ตามมาตรฐานขั้นต่ำหลายด้าน เช่น
การคัดแยกผู้เสียหายไม่มีประสิทธิภาพ การคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานไม่มากพอ ข้อกำหนดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการคุ้มครองผู้เสียหายต่างชาติ โดยเฉพาะการทุจริตและการมีส่วนเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังคงขัดความความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยสหรัฐฯ ได้เสนอแนะการดำเนินงานต่อประเทศไทย จำนวน 12 ข้อ
ต่อจากนั้นที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ โครงสร้างการบริหารงาน เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่วมขับเคลื่อนและบริหารศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ไทย – ออสเตรเลีย รวมทั้งปรับองค์ประกอบ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก
รองนายกฯ กล่าวย้ำว่า การปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ที่จำเป็นต้องเพิ่มความพยายามขับเคลื่อนโดยกลไกรัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาและข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ ต้องได้รับการแก้ไขและมีพัฒนาการในทุกข้อจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องใหม่ เช่น
ความซับซ้อนจากปัญหาแฝงของแรงงานเกาหลีเหนือ รวมทั้งการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายที่พ้นความช่วยเหลือหรือดำเนินคดีให้มีรายได้และงานทำ โดยกำชับขอให้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหา
และขอให้ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งจัดตั้งและขับเคลื่อนบังคับใช้กลไกNRM ให้เป็นระบบอย่างเต็มที่ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด โดยขอยืนยันการดำรงเป้าหมายสำคัญร่วมกัน ในความพยายามยกระดับประเทศไทยเป็นเทียร์ 1 ในปี 2566