เลือก “พิธา” จะได้อะไร – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

แบบนี้ก็มีด้วย

นับเป็นเรื่องแปลก แทบไม่เคยพบเจอ มวลชนยื่นข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองในประเด็นที่กระโดด เขย่ง จนไม่น่าจะเป็นการเรียกร้องในคราวเดียวกันได้

แต่ก็เป็นไปแล้ว

วันเสาร์ที่ผ่านมาตรงกับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ในแง่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองแล้ว มีเรื่องให้เล่าขานกันมากมาย

หลักๆ แล้วคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มีกิจกรรมหนึ่งน่าสนใจ กลุ่ม ๒๔ มิถุนาประชาธิปไตย ทำหนังสือถึง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มีข้อเรียกร้อง ๕ ข้อ ประกอบด้วย

๑.ประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติไทยที่มีการเฉลิมฉลองสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย ตรวจสอบการทำลายหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อนำคืนหรือสร้างขึ้นมาใหม่ตามคุณค่าความหมายแห่งสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่ถูกทำลาย

๒.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๔๕๐ บาท และการส่งเสริมเสรีภาพการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานเป็นวาระเร่งด่วนทำทันทีตามที่ได้หาเสียงไว้

๓.เพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุจากเดือนละ ๖๐๐ บาท เป็น ๓,๐๐๐ บาท

๔.ลดราคาพลังงานด้านน้ำมันรถยนต์ ลดราคาไฟฟ้าและการเดินทางโดยสารสาธารณะทุกประเภท ๕.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน

ในวาระวันที่ ๒๔ มิถุนายน การเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ เบี้ยผู้สูงอายุ ลดราคาน้ำมันลดค่าไฟฟ้า มันดูเขย่งไปหน่อย แต่ไม่ผิดอะไร

แต่ก็เพียงตั้งข้อสังเกตุเล็กๆ ว่า ประชาชนกำลังเดือดร้อนเรื่องอะไรกันแน่

และควรโฟกัสในเรื่องอะไร

แม้มวลชนกลุ่มนี้มาในชื่อ ๒๔ มิถุนาประชาธิปไตย แต่เมื่อดูความต้องการในข้อเรียกร้องแล้ว สภาพเศรษฐกิจดูจะเป็นที่ต้องการกว่า

ว่ากันตามจริง ข้อเรียกร้องในวันที่ ๒๔ มิถุนายน น่าจะเป็น การประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุุนายน เป็นวันชาติ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมากกว่า

การทวงค่าจ้างขั้นต่ำ เบี้ยผู้สูงอายุ ลดราคาพลังงาน ควรจะเรียกร้องเอาตอน “พิธา” เป็นนายกฯ แล้วมิใช่หรือ

ก็แสดงว่ากลุ่ม ๒๔ มิถุนาประชาธิปไตย ให้น้ำหนักไปเรื่องปากท้องมากกว่าจะเปลี่ยนวันชาติ

กลับกัน พรรคก้าวไกล ใช้วันที่ ๒๔ มิถุนายน เพื่อจุดเชื้อเปลี่ยนประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

“ช่อ พรรณิการ์ วานิช” โพสต์ในโซเชียลหรา!

“….จัดงานฉลองวันชาติที่ตึกอนาคตใหม่ มีทั้งนิทรรศการ วงคุย และเครื่องดื่มสุดพิเศษเพื่อระลึกถึงคุณูปการของคณะราษฎร

คนเยอะ คึกคัก บทสนทนารุ่มรวย สนุกสนาน ได้กลิ่นความเจริญและประชาธิปไตย

ประเทศนี้ ประชาชนพยายาม “พลิกแผ่นดิน” มา ๙๑ ปี ตอนนี้มีหวังว่าจะสำเร็จในเร็ววัน…”

เห็นอะไรในโพสต์นี้ครับ

ประเด็นแรก ระบุว่า ๒๔ มิถุนายนเป็นวันชาติ

ประเด็นหลัง ประชาชนพลิกแผ่นดิน มา ๙๑ ปี

วันชาติเดิมก่อน ๒๔๗๕ ก็เคยมีการจัดเฉลิมฉลองในวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ แม้จะไม่เป็นทางการ แต่เป็นการประกาศให้ชาวตะวันตกรับรู้ว่าสยามก็มีอารยะ

แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้เปลี่ยนวันชาติ เป็น ๒๔ มิถุนายน เมื่อปี ๒๔๘๑

ต่อมาในปี ๒๕๐๓ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์​ ประกาศยกเลิกวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ให้ถือเอาวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันชาติแทน

ซึ่งก็ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีข้อความดังนี้

…ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่าง ๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไป นั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเด็น ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เสีย….

และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อีกฉบับที่ออกตามมา ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย คือวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๙ คือวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี

ณ พ.ศ.นี้ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ประกาศชัดเจนต่อสาธารณะ แม้จะยังไม่เป็นนโยบายพรรค แต่เหมือนคำสัญญาว่า จะเปลี่ยนวันชาติกลับไปเป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน อีกครั้ง

“รังสิมันต์ โรม” เสวนารำลึก ๒๔๗๕ กลับมีประเด็นลึกลงไปยิ่งกว่าวันชาติ

“…ข้อเสนอของเราที่จะเป็นก้าวแรกของการทลายการรัฐประหารคือการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีกลุ่มก้อนบางกลุ่มที่จะใช้สถาบันกองทัพไปยึดอำนาจจากประชาชน แล้วแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เถลิงอำนาจ แล้วอ้างว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์อีกต่อไป

หลังจากนั้นกระบวนการการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉบับของประชาชน พรรคก้าวไกลก็ยืนยันกับพี่น้องว่าเรามีแนวความคิด ว่าจะทำให้มั่นใจว่า จะไม่มีสถาบันทางการเมืองใดๆ อีกต่อไป ที่จะไปรับรองการรัฐประหารอีกแล้ว ๓ โจทย์นี้หากเราทำสำเร็จ เราจะเฉลิมฉลองวันที่ ๒๔ มิถุนายน อย่างเต็มภาคภูมิ และนั่นคือวันชาติอย่างแท้จริง…”

เป็นไงครับฟังจบแล้ว นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ม.๑๑๒

หนึ่งในประเด็นที่พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และมวลชน เชื่อมาตลอดคือ การรับรอบคณะรัฐประหาร ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหารัฐประหารได้

แล้วใครเป็นคนรับรอง

มีการสร้างวาทกรรม “การเซ็นรับรองรัฐประหาร” พุ่งเป้าไปที่พระมหากษัตริย์

ทั้งที่จริง การรัฐประหารแต่ละครั้ง หัวหน้าคณะรัฐประหารจะมีฐานะเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”

การลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เป็นการลงนามตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ

จึงไม่เคยมีการ “การเซ็นรับรองรัฐประหาร” เลยแต่อย่างใด

ฉะนั้นการที่ “รังสิมันต์ โรม” ซึ่งคิดว่าตัวเองกำลังมีอำนาจบอกว่า “จะไม่มีสถาบันทางการเมืองใดๆอีกต่อไป ที่จะไปรับรองการรัฐประหาร” จะแปลความเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

นี่ควรเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส.ว.จะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจว่าควรเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะการเลือก “พิธา” จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้กลายเป็นประเทศที่เราไม่เคยรู้จักจริงๆ

Written By
More from pp
ยิ่งปรับยิ่งชินวัตร – ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ยังเป็นที่คาใจกันอยู่ การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” เพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ หากเป็นไปตามที่ “ปานปรีย์”...
Read More
0 replies on “เลือก “พิธา” จะได้อะไร – ผักกาดหอม”