19 มิถุนายน 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วย นายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่เยี่ยมพบปะให้กำลังใจ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ตาลและกลุ่มกลึงไม้ตาล ซึ่งเป็นกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน
โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ส.ส.เพชรบุรี เขต 1 นางสาวอุดม อ่วมละออ จัดหางานจังหวัดเพชรบุรี นางสาวอำพร ไพเราะ ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ตาล นางสาวไพรวรรณ อ่อนยิ่ง ประธานกลุ่มกลึงไม้ตาล และสมาชิกกลุ่ม ให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการกลุ่ม ต.หนองปรง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการเร่งส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีทักษะฝีมือ มีงานทำ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
ในวันนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้ดิฉันพร้อมด้วยรองอธิบดีกรมการจัดหางานลงพื้นที่มาเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ตาลและกลุ่มกลึงไม้ตาล ที่เขาย้อย จ.เพชรบุรี ซึ่งจากการพบปะพูดคุยกับประธานกลุ่มทั้งสองกลุ่มดังกล่าว พบว่า
สองกลุ่มนี้เป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชน แปรรูปไม้ตาลเพื่อผลิตสินค้าอุปโภค โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ตาลได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ปัจจุบันมีสมาชิก 5 คน ทำเป็นอาชีพหลักมีรายได้อยู่ที่ประมาณคนละ 8,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มกลึงไม้ตาลได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ปัจจุบันมีสมาชิก 7 คน ทำเป็นอาชีพเสริมมีรายได้อยู่ที่ประมาณคนละ 3,000 – 4,000 บาทต่อเดือน
สมาชิกทำงานที่กลุ่ม และบางส่วนจะกระจายให้สมาชิกนำผลิตภัณฑ์ไปทำที่บ้านของตนเองแล้วนำมาส่งที่ทำการกลุ่ม รายได้ส่วนใหญ่มาจากรับงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส่งขายไปยังต่างประเทศ รวมทั้งขายหน้าเขาวัง อำเภอเมืองเพชรบุรี การออกบูธจำหน่ายในงานแสดงสินค้าของภาครัฐ เอกชน และจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์
นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรี ได้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มของสมาชิกกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เช่น การทำครก หม้อดิน กำไลข้อมือ กระโถน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ฝึกอบรมและศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มรับงานในจังหวัดเพชรบุรี ฝึกอบรมกิจกรรมส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้านและกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน การแนะนำช่องทางการตลาด การเป็นวิทยากรสาธิตอาชีพของสำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย