“ณัฏฐิญา” ปลื้มเสื่อกกจันทบูร นำอัตลักษณ์เชิงพื้นที่รังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้สมาชิก

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ณัฏฐิญา ปลื้มเสื่อกกจันทบูร นำอัตลักษณ์เชิงพื้นที่รังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้สมาชิก พร้อมแนะ 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มสู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 น. นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (รปอ.) พร้อมด้วย นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (หน.ผตร.อก.) นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (ผตร.อก.) นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ชปอ.) และผู้บริหารจากหน่วยงานส่วนกลาง

ลงพื้นที่เยี่ยมชม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอเสื่อกก หมู่ 10 พร้อมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน โดยมี นายยุทธพงษ์ แก้วปัน หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ให้การต้อนรับ และนายปิยะวัฒน์ ศุภอุดมวิบูลย์ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน บรรยายสรุปการดำเนินงานของกลุ่มฯ ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอเสื่อกก หมู่ 10 บ้านเสม็ดงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นแหล่งรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกก มีคุณจุไรรัตน์ สรรพสุข และสมาชิก เป็นผู้ก่อตั้งและสร้างสรรค์งานหัตถกรรมดังกล่าว ซึ่งปกติแล้วต้นกกเป็นพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติในที่ชื้นแฉะ โดยบ้านเสม็ดงามได้เลือกปลูกกกพันธุ์ต้นกลมที่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย และมีความโดดเด่น คือ

เส้นกกเหนียว นุ่ม ทนทาน มีเส้นเล็กละเอียด มันวาว ถือเป็นคุณสมบัติพิเศษของเสื่อจันทบูร ในอดีตผลิตภัณฑ์จะเป็นการทอแบบผืนทั่วไป และมีการพัฒนาเป็นลำดับจนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กระเป๋าปกห่อสมุดไดอารี่ เสื่อบุฟองน้ำแบบพับ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นในการทอเสื่อลายพิเศษที่ได้จดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว ได้แก่ ลายฉัตรพิมาน และลายปัญจจันทบูร ปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากกก มาตรฐานเลขที่ มผช. 7/2559

โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ได้ให้การสนับสนุนในการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การดูแลสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การใส่ใจในการย้อม การทอ โดยสีย้อมเคมีที่ไม่มีสารตกค้างนำเข้าจากประเทศจีน มีการจัดทำบ่อพักที่ถูกต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านการกระจายรายได้กับชุมชน มีการพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การจำหน่าย จากเดิมที่ขายเฉพาะศูนย์ฯ เพิ่มมาเป็นการขายในช่องทางออนไลน์ ส่วนในด้านการดูแลสังคมและชุมชน มีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าและหันกลับมาสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างสรรค์ผลงาน

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจได้มีการสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ “กอกก” ด้วยแนวคิด “แบรนด์เล็ก ๆ ที่เป็นที่รัก และเลือกที่จะเติบโตไปพร้อมกับชุมชน” เกิดจากแรงบันดาลใจที่จะสืบสานยกระดับศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเต็มไปด้วยเสน่ห์ ด้วยกระบวนการพิถีพิถัน ประณีตในทุกขั้นตอน งดงามตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ทรงคุณค่าของชาวจังหวัดจันทบุรี

ทั้งนี้ รองปลัดฯ ได้กล่าวชื่นชมกลุ่มวิสาหกิจฯ ว่ามีผู้นำที่เข้มแข็ง สมาชิกมีความสามัคคี และมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สามารถสร้างชื่อเสียงเป็นของดีประจำจังหวัดจันทบุรีมาอย่างยาวนาน

โอกาสนี้ ได้ให้คำแนะนำกับสมาชิกกลุ่มว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยว และยกระดับไปสู่รูปแบบการดำเนินงานใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนากลุ่มให้มีศักยภาพและเกิดความยั่งยืน ด้วยกลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ประกอบด้วย

1. แผนชุมชนดีพร้อม โดยการดึงศักยภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่และจุดเด่นของแต่ละชุมชน อย่างมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่น การวิเคราะห์จุดแข็งเชิงพื้นที่ การพัฒนาต่อยอดแผนงานที่ครอบคลุมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

2. พัฒนาคนชุมชนดีพร้อม โดยคนต้องมีอาชีพหลัก อาชีพเสริม ที่สร้างรายได้อย่างพอเพียง พร้อมสร้างให้เกิด Hero เพื่อช่วยเพื่อนสมาชิกด้วยกัน

3. แบรนด์ชุมชนดีพร้อม ด้วยการสร้างแบรนด์ให้ชุมชนโดยดึงอัตลักษณ์เป็นจุดเด่นในพื้นที่

4. ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม การต่อยอดผลิตภัณฑ์เด่นหรือมีอัตลักษณ์ในพื้นที่โดยพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

5. การผลิตชุมชนดีพร้อม โดยยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านศูนย์บริการ ITC ที่มีอยู่ทุกศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการเครื่องจักรในกระบวนการผลิต

6. ตลาดชุมชนดีพร้อม ทั้งส่งเสริมการตลาดออฟไลน์ และออนไลน์ 7. เงินหมุนเวียนดีพร้อม ซึ่งกระทรวงฯ มีกองทุน 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ ดีพร้อมเพย์ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อช่วยให้ชุมชนมีเงินทุนหมุนเวียนพอเพียง สำหรับการขยายธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

Written By
More from pp
“สามารถ” ตั้งฉายา ธนาธร “โย่งหลังไมค์” ชี้หัดท่องจำรัฐธรรมนูญมาตรา 50 ให้ขึ้นใจก่อน จะได้ไม่ออกมาปล่อยไก่ด่ารัฐบาล  
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐได้โพสต์ Facebook ส่วนตัวชื่อสามารถ เจนชัยจิตรวนิช
Read More
0 replies on ““ณัฏฐิญา” ปลื้มเสื่อกกจันทบูร นำอัตลักษณ์เชิงพื้นที่รังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้สมาชิก”