10 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตร สายสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 และบรรยายพิเศษหัวข้อ” เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีน” โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายฐิตินันท์ วัธนเวคิน ผู้อำนวยการหลักสูตรสายสัมพันธ์ไทย-จีน ดร.นุชนาถ วสุรัตน์ ประธานชมรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน ร่วมด้วย ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 28 บางกอกคลับ อาคารสาทรซิตี้ กรุงเทพ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จีนทวีความสำคัญมากขึ้นในสังคมโลก อย่างน้อย 3 ด้าน 1. ภาษา 2. เศรษฐกิจ 3. ภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันจีนเป็น 1 ใน 2 อภิมหาอำนาจของโลกคู่กับสหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจจีนเป็นอันดับ 2 ของโลก มีจีดีพีรองจากสหรัฐฯ เป็นตลาดอันใหญ่อันดับ 1-2 ของโลก มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน และจีนนำเข้าเป็นอันดับ 2 ของโลก การส่งออกหลายประเทศในโลกต้องพึ่งพาตลาดจีน
ขณะที่หลายประเทศในโลกเศรษฐกิจถดถอย แต่จีนปีที่แล้วจีดีพีโต 3% ปีนี้คาดการณ์ว่าจะโต 5.2% และสกุลเงินหยวนของจีนเป็นสกุลเงินที่เป็นที่ยอมรับใช้เป็นเงินสำรองของประเทศต่างๆในโลก ล่าสุดปีนี้ IMF ให้ใช้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เดิมไม่เกิน 10.92% เป็น 12.28% ด้านความมั่นคง การเมืองโลก ภูมิรัฐศาสตร์ จีนผงาดเป็น 1 ในมหาอำนาจของโลกคู่กับสหรัฐอเมริกา
ที่ตนติดตาม จีนเร่งสร้างพันธมิตรทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและวัฒนธรรม ด้านภูมิรัฐศาสตร์ฝั่งสหรัฐฯ มีอียู สหภาพยุโรป 27 ประเทศ กลุ่มนาโต้ 26 ประเทศ กลุ่มจี7 และปี 2019 มีกลุ่ม THE QUAD กลุ่มแนฟตา ต่อมาเป็น USMCA และปี 2022 คือ
กลุ่มอินโด-แปซิฟิก และฝั่งจีน มีการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่ม SCO (Shanghai Cooperation Organization) 7 ประเทศ และกลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่ม BRICS รวมกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา (จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิลและรัสเซีย) ไม่กี่วันมานี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอในกลุ่ม BRICS ว่าอยากขยายจำนวนสมาชิก
นอกจากนี้ มี RCEP ที่เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สมาชิก 15 ประเทศ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก ประชากร 1 ใน 3 ของโลก ทั้งสองขั้วทวีความสำคัญขึ้น ล่าสุด การประชุมที่โป๋อ่าว จีนเสนอโครงการความมั่นคงโลกให้ทุกประเทศร่วมแสวงหาความมั่นคงรูปแบบใหม่เน้นการเจรจามากกว่าการเผชิญหน้า ร่วมกันสกัดกั้นอาวุธทำลายล้างสูง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยกับจีน มีสัมพันธ์หลายมิติทั้งการทูตการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เป็นต้น สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูต 48 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ในระดับพรรคการเมืองก็มีการแลกเปลี่ยนการเยือนหลายครั้ง
ด้านเศรษฐกิจการค้า จีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย 11 ปีต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยรองจากสหรัฐฯ และช่วงที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตนได้คิดค้นนวัตกรรมทางการค้าอันใหม่เกิดขึ้น คือ การทำ mini-FTA เพราะ FTA ปกติใช้เวลานาน
ตนจึงคิดข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย วันนี้มี mini-FTA 7 ฉบับแล้ว โดย 3 ใน 7 ฉบับ เป็นการทำกับจีน เรามีกับไห่หนาน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดของจีน และกับมณฑลกานซู่ เพราะมีมุสลิมเยอะจะเป็นตลาดสินค้าฮาลาลของไทย ล่าสุด เดือน มี.ค. 2566 เราทำ mini-FTA กับกับเซินเจิ้น โดยตั้งเป้า 2 ปีแรกจะทำมูลค่าค้าขายระหว่างกัน 10,000 ล้านบาท และเร็วๆนี้ จะทำเพิ่มกับมณฑลยูนนานจะเป็นอีกตลาดที่สำคัญต่อไป
ด้านการลงทุน ปี 2565 ที่ผ่านมา จีนมาขอ BOI กับไทย ถึง 7.7 หมื่นล้านบาท มากที่สุดในโลก เพิ่มจากปี 64 ถึง 108% ด้านการท่องเที่ยว ปี 65 นัดท่องเที่ยวจีนมาไทย 270,000 คน ปีนี้คาดว่ามีจำนวนถึง 4.25 ล้านคน โดยไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่จีนอนุญาตให้จัดกรุ๊ปทัวร์ไปเที่ยวได้
“และประเด็นที่ท้าทาย คือ ท่ามกลางความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยจะรอดได้อย่างไร เราต้องให้คำตอบไว้ในใจ ล่วงหน้าว่าระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ อะไรคือจุดสมดุล ให้เรายืนหยัดได้อย่างสง่างามในเวทีโลกต่อไป ตนมีคำตอบว่า วันนี้ประเทศไทยของเรายืนอยู่บนจุดที่ถูกต้อง เป็นมิตรกับทุกฝ่าย แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ไม่เป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์ด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา เศรษฐกิจและอื่นๆ ให้เราเป็นเพื่อนกับโลกทั้งใบได้ เพราะเราเดินมาถูกทาง จึงสามารถมีส่วนร่วมกับกลุ่มสำคัญทั้งการเมืองเศรษฐกิจของโลก
ที่สำคัญความสัมพันธ์ในอาเซียนที่เราต้องไม่ทิ้งกันอยู่ด้วยกัน และเราต้องดูแลประโยชน์สูงสุดกับประเทศเรา ท่ามกลางความขัดแย้ง อย่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด รักษาความเป็นเราไว้ รักษาจุดสมดุลที่อดีตเคยให้ไว้กับเรา เพื่อประโยชน์สูงสุดของความเป็นเราต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว