25 พฤษภาคม 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดี 3
ได้ยื่นฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ เจ้าของเพจ มัมดิวไดอารี่ และ ธิดาพร ชาวคูเวียง หรือ หนูรัตน์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ จากกรณีทำแคมเปญโฆษณาลาซาด้า 5.5 ร่วมกับ “นารา เครปกะเทย” เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเนื้อหามีลักษณะล้อเลียนผู้พิการ และพาดพิงสถาบันเบื้องสูง
ในคดีนี้มี ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาที่ บก.ปอท. ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย. 2565 มัมดิวและหนูรัตน์ ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวตามหมายจับของศาลอาญา พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
ต่อมายังมีการแจ้งข้อหากับสองบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาดังกล่าว และอัยการได้สั่งฟ้องคดีร่วมกับมัมดิวและหนูรัตน์ในครั้งนี้ด้วย ส่วนในกรณีของนารา ได้ถูกฟ้องแยกคดีเป็นอีกสำนวนหนึ่งไปก่อนหน้านี้แล้ว
ดนุพล จาตุรนต์พงศา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้เรียงฟ้องในคดีนี้ โดยกล่าวหาจำเลยทั้งหมดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เฉพาะนาราและสองบริษัทยังถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) ตลอดจนร่วมกันใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม
ในคำฟ้อง อัยการได้ฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 แยกเป็นสองกระทง กระทงแรกได้บรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุปว่าในระหว่างวันที่ 3–5 พ.ค. 2565 หนูรัตน์กับบริษัทโฆษณาและบริษัทขายสินค้า พร้อมกับนารา ได้ร่วมกันผลิตจัดทำวิดีโอโฆษณาขนาดสั้นและภาพนิ่งอันมีลักษณะเป็นการล้อเลียน พาดพิง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์
คำฟ้องบรรยายเนื้อหาคลิปโดยสรุปว่า จำเลยทั้งหมดได้สร้างเรื่องราวในคลิปวิดีโอมีเนื้อหาว่านารากำลังหาชุดไปเต้นรำ พบว่าชุดราตรีของตนเองได้หายไป จึงได้เข้าไปถามหนูรัตน์ ซึ่งกำลังนั่งรถเข็นผู้พิการอยู่ว่าเสื้อของตนได้หายไปไหน แต่หนูรัตน์ตอบว่าไม่เห็น จนกระทั่งนาราได้ค้นเจอจากรถเข็นที่นั่งของหนูรัตน์ โดยหนูรัตน์ ได้มีการทำกิริยาท่าทางน่าเกลียด เช่น ทำมือชี้ท้องฟ้าแล้วทำตาเหลือก ก่อนที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้พิการจริง ซึ่งอัยการบรรยายฟ้องว่าเป็นการล้อเลียน และหมิ่นประมาทเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ว่าไม่ได้มีอาการป่วยจริง
ส่วนอีกกระทงหนึ่ง ได้บรรยายถึงจำเลยที่ 1 หรือ มัมดิว ได้ปรากฏตัวอยู่ในช่วงท้ายของวิดีโอคลิป โดยมีการโฆษณาเซรั่มของนารา มีเนื้อหาว่าจำเลยทั้งหมดได้นำสินค้าของนารามาวางอยู่บนภาชนะคล้ายจาน ทำจากหวาย มามอบให้มัมดิว ซึ่งแต่งกายด้วยชุดผ้าไหม นุ่งผ้าถุงลายไทย สวมใส่สร้อยคอ ตุ้มหู และสร้อยข้อมือไข่มุก ส่วนหนูรัตน์นั่งอยู่บนรถเข็น เป็นตัวประกอบไม่มีบทพูด แต่แสดงอาการพยักหน้าพึงพอใจกับสินค้าของนาราที่มอบให้กับมัมดิว
อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า นารามีหน้าที่เป็นผู้ผลิตและอัปโหลดคลิปดังกล่าวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย TikTok โดยมีหนูรัตน์ร่วมแสดงเป็นหญิงพิการ นั่งอยู่บนรถเข็นคนพิการ แต่งกายด้วยชุดไทยประยุกต์ นุ่งโจงกระเบน สวมใส่สร้อยไข่มุก แต่งหน้าและทำผมคล้ายเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ อันเป็นพระโสทรกนิษฐภคินี และรัชทายาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
ส่วนมัมดิวได้ ใช้สำเนียงการพูดช้าๆ มีลักษณะเฉพาะ มิใช่น้ำเสียงตามธรรมชาติของจำเลย หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการทำให้เข้าใจได้ว่ามัมดิว มีเจตนาล้อเลียนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 10
คำฟ้องสรุปว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมด เป็นการจงใจแสดงให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความเข้าใจความหมายตามที่จำเลยแสดง ซึ่งเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ด้อยค่า ดูหมิ่น และหมิ่นประมาท ต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ อีกทั้งยังเป็นการด้อยค่า ดูหมิ่น และทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมพระเกียรติ
อัยการโจทก์ยังคัดค้านการประกันตัวมัมดิวและหนูรัตน์ โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง
ต่อมาเวลา 16.38 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันที่อาจทำให้เสื่อมเสีย และห้ามชุมนุมที่อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันคนละ 90,000 บาท ซึ่งกรณีของมัมดิวและหนูรัตน์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 24 กรกฎาคม 2566