22 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวสับสนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ จะร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะโดยหลักทางกฎหมายและข้อบังคับพรรคแล้วจะหลีกหนีเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะขณะนี้พรรคยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและ เรียกประชุม ส.ส.มา พิจารณาเรื่องเหล่านี้ ส่วนที่มีข่าวว่ามีการเจรจาพูดคุยกับพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้นก็เป็นข่าวบิดเบือนทั้งสิ้น
ส่วนรายงานข่าวที่ว่ามีการส่งคนไปเจรจาเพื่อร่วมรัฐบาลเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเรามีกฎเกณฑ์กติกาที่ต้องทำตามระบบและระเบียบข้อบังคับ สิ่งที่ระบุในระเบียบข้อบังคับ ข้อที่ 96 ระบุว่า ให้ที่ประชุมร่วมกันระหว่าง กก.บห. และ ส.ส. เป็นผู้พิจารณาเพื่อมีมติว่าร่วมหรือไม่ร่วม หรือถอนจากการร่วมรัฐบาล
แต่ถ้าจะบอกว่ามีใครไปเจรจา ประสานงานเพื่อร่วมรัฐบาลนั้นเป็นข้อมูลเท็จทั้งสิ้น ส่วนที่มีสมาชิกพรรคแสดงความเห็นเรื่องการยกมือโหวตให้กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หรือมีความพยามให้ร่วมกับพรรคนั้นพรรคนี้ เป็นความเห็นส่วนบุคคลทั้งสิ้น
ตนพูดในนามพรรคที่มีกฎกติการะบุไว้ชัดเจนว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมติพรรค รวมถึงข่าวที่ว่าเราไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีใครสามารถดำเนินการได้คนเดียวเช่นกัน โดยการจัดตั้งรัฐบาลเป็นของพรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ส. มากลำดับที่ 1 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ไปก้าวล่วง เรามีว่าที่ ส.ส. 24 ที่นั่ง เราไม่มีสิทธิ์ทักท้วงหรือคัดค้านในสิ่งที่พรรคก้าวไกลและพรรคอื่นที่เข้าร่วมรัฐบาลพูดคุยกัน
นายราเมศ กล่าวอีกว่า ส่วนการยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 112 เราจะไม่ไปก้าวล่วง แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันตลอดคืออุดมการณ์ของพรรคข้อที่3 คือพรรคจะดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลักกฎหมาย และเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชน รุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งชัดเจน และยืนยันตลอด ว่า
เราไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก ม.112หรือแม้แต่จะมีการแก้ไข แม้จะมีความพยายามสื่อไปยังประชาชนว่าไม่ยกเลิกเพียงแต่แก้ไข จึงอยากให้ประชาชนศึกษารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลเสนอต่อสภามีความชัดเจนในตัว ว่ามีความพยายามอยู่หลายรอบในเรื่องนี้
“โดยในเนื้อหาจะบอกชัดเจนว่า ให้มีการยกเลิก ม.112 โดยเอกสารของร่างดังกล่าว ใน ม.4 ที่บัญญัติว่าให้มีการยก ม.112 ทั้งที่มาตรานี้ไม่สามารถทำร้ายใครได้ หากพฤติกรรมผู้ทำผิดไม่ได้ส่อไปในการทำผิด แต่มีความพยายามยื่นหลายครั้งและโจมตีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาหลายครั้งว่า พยายามตีตกไปไม่ให้เข้าสู่บรรจุวาระสภา ซึ่งเป็นการบิดเบือนอย่างมาก
เพราะผมมีหลักฐานเอกสารไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ว่าพรรคการเมืองพยายามแก้ไขให้ยกเลิก ม.112 โดยสำนักเลขาธิการสภาฯ ตรวจสอบพบมีข้อบกพร่อง และแจ้งให้นายพิธาถอนร่างไปแก้ไข แต่ก็มีความพยายามไม่สิ้นสุด โดยเสนอเข้ามาอีกในวันที่ 25 มี.ค. 64 และวันที่ 7 เม.ย. 64
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่า ไม่ปรากฏข้อความประสงค์ชัดว่าเสนอฉบับใด แจ้งไปยังนายพิธาอีกครั้ง ต่อมาวันที่ 21 เม.ย. 64 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ได้แจ้งให้นายพิธาทราบเพื่อให้แก้ไขข้อบกพร่อง และวันที่ 23 เม.ย.64 เจ้าหน้าที่ได้สภาแจ้งนายพิธา ว่าร่างนี้อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่นายพิธาก็ยังยืนยันเสนอเข้ามาอีก
จนวันที่ 22 ธ.ค. 64 รองเลขาธิการสภาฯ แจ้งไปยังนายพิธาว่ากรณีการกำหนดความผิดลักษณะที่ยอมความได้ อาจไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 28-29/2555 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ที่ว่า ม.112 ไม่ลักษณะที่ขัดหรือแย้ง และไม่มีลักษณะที่เลือกปฏิบัติต่อประชาชน
หากพรรคก้าวไกลจะทำให้ประเทศไม่เหมือนเดิมเราไม่ก้าวล่วงแต่จะต่อสู้ในระบบรัฐสภา ส.ส.ทั้ง 24 คน จะทำหน้าที่ติดตามเรื่องของการยกเลิกแก้ไข ม.112 พรรคมีอุดมการณ์พรรคและนโยบายชัดเจน แล้วว่าจะไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิก ดังนั้นขอให้พรรคก้าวไกล โชคดีในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เต็มที่ “นายราเมศ กล่าว
เมื่อถามว่า มีสมาชิกพรรคบางคนเสนอให้โหวตให้นายพิธาเป็นนายกโดยไม่ต้องร่วมรัฐบาล นายราเมศ กล่าวว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีมติของ กก.บห. และ ส.ส. ชุดใหม่ แต่ตนบอกได้เพียงว่าขอให้ดูอุดมการณ์ของพรรคโดยเฉพาะข้อ3 ที่สามารถบอกได้ชัดเจนแล้
ว ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เวลานี้ทุกคนกลับเข้าสู่กระบวนการสถาบันการเมือง เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค ก็ต้องเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ โดยจะมีการนัดประชุม กก.บห. ในวันที่ 24 พ.ค. เพื่อหารือแนวทางการเลือก กก.บห. พรรคชุดใหม่ต่อไป
ซึ่งการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ครั้งนี้ จะเป็นความหวังให้ทุกคน พร้อมใจกันจับมือให้พรรคเดินไปข้างหน้าได้แล้ววันหนึ่งเราจะกลับมา
ทั้งนี้ ขณะนี้ทุกคนมีสิทธิ์จะนำเสนอว่า มีการล็อกตัวใครเพื่อให้เป็นหัวหน้าพรรค ใครที่มีความรู้ความสามารถก็อาสาเข้ามาได้ แม้เราจะแพ้เลือกตั้งแต่ไม่ได้หมายว่าต้องปิดพรรค เราอยู่มา 77 ปี มีศักดิ์ศรี นโยบายอาจไม่หรือหวา แต่ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจะเป็นคำตอบให้ประชาชนว่าที่ผ่านมาสิ่งดี ๆ ที่ทำมาไม่สามารถหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้
ส่วนกรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตเคยลงสมัครผู้ว่า กทม. ของพรรคก้าวไกล ระบุพาดพิงพรรคประชาธิปัตย์ว่า เราแพ้เลือกตั้งตลอด มีการเหยียดหยามด้อยค่าคนแพ้ หากย้อนไปตอนที่เขาแพ้เลือกผู้ว่าฯเราไม่เคยไปทับถมด้อยค่าแม้แต่น้อย เพราะถือเป็นมติของประชาชน
“ผมเชื่อพ่อแม่คุณวิโรจน์สั่งสอนมาดี แต่ด้วยตัวเองที่ลักษณะสันดานดิบ ชอบด้อยค่า ก้าวร้าวคนอื่นปากอ้างประชาธิปไตย แต่พูดแต่ละคำมีแด่เสียดสี ผมไม่เรียกร้องให้ดัดนิสัย เพราะเขาพูดแบบนี้บ่อยครั้งอยู่แล้ว”
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายราเมศกล่าวว่า แม้เราจะมีแค่24 คน แต่การทำหน้าที่ในสภา ทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งเรื่องผลักดันนโยบายที่ประกาศและการออกกฎหมายด่างๆก็จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด
ส่วนการทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นเป็นเรื่องของอนาคตแต่การทำหน้าที่ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มกัน เพราะพรรคที่เหลือจากการร่วมรัฐบาลก็ต้องมาเป็นฝ่ายค้านอยู่แล้ว
ทั้งนี้ประเมินผลการเลือกตั้งที่พรรคได้มา24เสียงว่า กก.บห. ชุดใหม่จะมีการสรุปผลการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะภาคใต้เกือบทุกจังหวัดยังเห็นกระบวนการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
ขอยืนยันว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมีมูลค่ามากกว่าเงินซื้อเสียง500 บาท ซึ่งต้องถอดบทเรียน กันด้วยว่าการดำเนินการกิจกรรมในทางข้างหน้า เราจะทำอย่างไรในการต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้
เมื่อถามว่ามั่นใจใช่หรือไม่ว่า ผู้ที่ได้รับชัยชนะได้เป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีการซื้อเสียงเลย นายราเมศ กล่าวว่า มั่นใจและถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจพบว่า มีคนของพรรคประชาธิปัตย์ มีการซื้อเสียง ก็ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย นักการเมืองที่ทุจริตถ้ามีหลักฐานยืนยัน ตนก็สนับสนุนว่าทำผิดต้องติดคุก