ผักกาดหอม
อย่ากะพริบตา!
การหาเสียงเลือกตั้ง มาถึงโค้งสุดท้ายแล้วครับ ก่อนจะเข้าสู่ทางตรง ซึ่งแต่ละพรรคต้องเร่งเครื่องสุดฝีเท้า เพื่อสอยที่นั่ง ส.ส.ให้ได้มากที่สุด
ยุทธศาสตร์การหาเสียงก็จำต้องเปลี่ยน
หยิบอะไรมาหาเสียงแล้วไม่ปัง ก็ต้องเริ่มใหม่
ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายเสมอไป
ดู “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” วานนี้ (๗ พฤษภาคม) เป็นตัวอย่าง
ปราศรัยดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ฟังดีๆ มันเตือนสติบางพรรคการเมืองให้ระวังคุก
“…คนของประชาธิปัตย์หลายคนโดนต่อว่าหลายครั้ง ว่าทำไมนโยบายของพรรคไม่ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนกับหลายพรรคการเมือง
แต่ประชาชนที่ร่วมฟังการปราศรัยครั้งนี้ทราบว่า นโยบายที่ตื่นเต้นเร้าใจหลายครั้งจบลงที่ประเทศแทบล้มละลาย สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจ เกิดความขัดแย้งทางสังคม การเมือง
และจบลงที่คุกเพราะเชื่อนาย
แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ทำนโยบายลักษณะนั้น…”
“อภิสิทธิ์” คงพูดถึงโครงการรับจำนำข้าว ที่นักการเมือง ข้าราชการ ติดคุกกันระนาว
แต่มองไปในอนาคตก็ยังมีโอกาสที่ข้าราชการ นักการเมือง คอกใหญ่ จะติดคุกกันอีกครั้ง
ก็นโยบายแจกหัวละหมื่นของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละครับ
แจกแบบไหน อย่างไร ต้องมีกฎหมายรองรับหรือไม่ ต้องให้แบงก์ชาติอนุญาตหรือเปล่า เพราะเห็นว่าจะไปตั้งเงินสกุลใหม่
ประกาศนโยบายออกมาแล้ว ก็ทำให้มันถูกกฎหมาย อย่าเอาความอยากได้ใคร่มีของประชาชนเป็นตัวประกัน
พลาดเมื่อไหร่คุกนะครับ
จำโครงการรับจำนำข้าว
หรือนโยบายหวยบนดินได้ไหม นั่นก็คุก ๒ ปีนะครับ
“อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา” ก็เตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ หากได้เป็นรัฐบาลอย่าเพลินแบบ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ”
หรือจะเตรียมช่องทางธรรมชาติก็ไม่ว่ากัน
ครับ…ฟัง “อภิสิทธิ์” ปราศรัยแล้วคิดตาม ก็จะเห็นภาพประมาณนี้ แต่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะแลเห็นกันหรือเปล่า
หรือจะปล่อยให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์ ก็อยู่ในมือผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน เท่าเทียม เสมอกัน
มาดู พรรครวมไทยสร้างชาติกันบ้าง
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคลิปฉบับเต็ม “คุยกับลุง” ฟังความในใจและเรื่องราวลึกๆ “ลุงตู่” ที่คุณอาจไม่เคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อน
เป็นการเปิดใจเรื่องการทำรัฐประหาร
“…ผมทนเห็นประชาชนบาดเจ็บล้มตายแบบนั้นไม่ได้ ผมจึงตัดสินใจ และผมไม่ได้ปรึกษาใครด้วย ผมตัดสินใจของผมเอง
ผมคิดแล้วคิดอีกนอนไม่หลับตั้งหลายเดือน เป็นเดือนๆ แล้วผมก็ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐบาลเขาเลย
ผมก็คุยกับเขามาตลอด แต่จะให้ผมไปเข้าข้างใครไม่ได้ เพราะตอนนั้นมันบานปลายไปเยอะแล้ว
สองฝ่ายคนมันเยอะมหาศาล แล้วผมไปปราบข้างไหน
ผมก็หยุดทั้งสองข้างไปเลย…”
เหมือนทิ้งบอมบ์เลือกตั้งโค้งสุดท้าย
งัดเรื่องนี้มาพูดมันก็เสี่ยงอยู่ เพราะคนที่ไม่เข้าใจพร้อมเอาไปขยายความโจมตีนั้นมีเยอะ
แต่ไหนๆ มันก็ใกล้วันที่ ๒๒ พฤษภาคมแล้ว ก็เอามาพูดก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ดีกว่าปล่อยให้พรรคการเมืองอื่นหยิบไปหาประโยชน์ในการเลือกตั้ง
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ภาพปรากฏเป็นข่าวนักการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถูกควบคุมตัว เพื่อให้อยู่ในความสงบ ก่อนทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัว นั่นคือสิ่งที่ยืนยันคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น
ย้ำอีกครั้งนะครับ การทำรัฐประหารไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย
มันก็เหมือนสงครามไม่ใช่สันติภาพ
บางครั้ง สงคราม ก็นำไปสู่ สันติภาพ
แต่ก็ใช่ว่า สงคราม จะนำไปสู่สันติภาพทุกครั้ง
รัฐประหารก็เหมือนกัน
การรัฐประหารเพื่อหยุดยั้งการคอร์รัปชัน หยุดความขัดแย้งของคนในชาติ เป็นข้ออ้างที่ทหารนำมาอ้างในการก่อการเกือบทุกครั้ง
แต่ใช่ว่าทุกครั้งจะเป็นการทำรัฐประหารเพื่อหยุดยั้งปัญหาเหล่านี้จริง
รัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ไม่เฉพาะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้นที่เห็นว่า การเมืองเดินไปไม่ได้แล้ว ฝ่ายการเมืองเองก็มองเห็นว่ามีหายนะรออยู่ข้างหน้า
หากปล่อยไปหมายถึง นองเลือดครั้งใหญ่
วิธีหยุดยั้งมีหลายวิธี
วิธีที่เพ้อเจ้อ นำไปปฏิบัติจริงไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็มาแนววิชาการ เช่น สมานฉันท์กันไว้ สร้างความจริงให้ปรากฏ มันไม่มีเวลาขนาดนั้นครับ
แต่ละฝ่ายเงื้อดาบจะฟันกันอยู่แล้ว
วิธีที่ได้ผลจริง แต่ไม่ถูกใจใครหลายคนคือ รัฐประหาร หยุดได้จริง แต่ไม่สามารถหยุดถาวรได้
ปัญหามันจึงยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้
ฉะนั้นรัฐประหารไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการหยุดไม่ให้ฆ่ากันชั่วคราว ให้แต่ละฝ่ายถอยกลับไปคิด
แต่ปัญหาคือวันนี้ทุกฝ่ายคิดได้หรือยัง?
วานนี้ (๗ พฤษภาคม) ก่อนครบรอบ ๙ ปี รัฐประหาร มีอยู่ท่อนหนึ่งในคำปราศรัยที่จังหวัดกระบี่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ชวนให้คิด
…ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นประเทศชาติจะแตกเป็นชิ้นๆ ครอบครัวจะแตกเป็นชิ้น แตกแยกกันไปทั้งหมด ยอมหรือไม่ ท่านคลอดเขามาเจ็บหรือไม่ ลูกไม่เคารพพ่อแม่ได้หรือไม่…
…ดูหน้าผมสิว่าขี้โกงหรือเปล่าแบบนี้ วันนี้จะเรียกลุง จะเรียกพี่ เรียกอา เรียกอะไรไปเลย แต่ผมคือ คุณตู่อยู่เสมอ…
ครับ…คนทำรัฐประหารเองก็รู้ครับว่า วันนี้ความขัดแย้งมันยังอยู่ และลามไปถึงระดับครอบครัว
ปัจจุบันการหยุดยั้งปัญหาด้วยวิธีการรัฐประหารถือว่าเป็นอดีตไปแล้ว และเป็นคนละบริบทกับอดีต
๑๔ พฤษภาคม จะเป็นอีกครั้งที่ตัดสินด้วยวิถีประชาธิปไตยว่า ใครจะเป็นผู้มาแก้ปัญหา
จะเป็น “คุณตู่อยู่เสมอ” หรือจะมีคุณอื่นๆ มาแทนที่
คนตัดสินคือประชาชน