มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80ฯ เปิดโผผู้ได้รางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2566 โดยจัดงานมอบรางวัลคึกฤทธิ์ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 ณ โรงละครอักษรา คิง พาวเวอร์ ปีนี้คณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ได้มีมติปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ครอบคลุมศิลปะการแสดงพื้นบ้าน รางวัลคึกฤทธิ์จะแบ่งออกเป็น 2 สาขา ได้แก่ สาขาศิลปะการแสดง และ สาขาวรรณศิลป์ โดย สาขาศิลปะการแสดง มี 2 รางวัล ประเภทคณะบุคคล และ ประเภทรายบุคคล สาขาวรรณศิลป์ 1 รางวัล รวมรางวัลคึกฤทธิ์ทั้งสิ้น 3 รางวัล
รางวัลคึกฤทธิ์ ถือเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าที่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายจากสาธารณชน โดยรักษาอัตลักษณ์ของ “ความเป็นคึกฤทธิ์” ในแง่ศิลปะที่สอดแทรกความเป็นตัวของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันต้องมีความเป็นอิสระ และสามารถพัฒนางานศิลปะในสาขาของตนให้มีคุณค่าต่อสังคม การมอบรางวัลคึกฤทธิ์ได้เริ่มต้นจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 โดยในปีนี้เป็นปีที่ 12 (ปี 2564-2565 งดการมอบรางวัล) โดยคณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ได้สรรหาบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ
ผลการประกาศรางวัลคึกฤทธิ์ในปี 2566 มีดังนี้ ในสาขาศิลปการแสดง สำหรับคณะบุคคลได้แก่ คณะละครชาตรีจงกลโปร่งน้ำใจ คณะละครชาตรีที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยทางคณะได้อนุรักษ์และทำการแสดงละครชาตรีมาจนถึงปัจจุบัน และรายบุคคล ได้แก่ อำไพ บุญรอด ศิลปินดีเด่นจังหวัดระยอง ผู้พากษ์และเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของภาคตะวันออก ส่วนสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรท์ ปี 2524 นักเขียนหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทอง เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง”
อำไพ บุญรอด พูดถึงการได้รับรางวัลประเภทบุคคล ในสาขาศิลปะการแสดงครั้งนี้ว่า
“ไม่นึกไม่ฝันนะครับว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดแบบผมจะมีโอกาสได้รับรางวัลนี้ เป็นความภาคภูมิใจและรู้สึกดีใจอย่างมากครับเพราะศิลปะอย่างหนังใหญ่ในประเทศไทยไม่ค่อยแพร่หลาย ตอนนี้ผมเป็นห่วงอยู่ว่ามันจะสูญสิ้นไป เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ที่มีการสืบสานเหลืออยู่แค่ 2 คณะ คือหนังใหญ่วัดบ้านดอน จ.ระยอง และวัดขนอน จ.ราชบุรี ผมกลัวว่าในอนาคตเด็กไทยก็จะเห็นหนังใหญ่ที่แปะไว้บนผนังพิพิธภัณฑ์ ขาดชีวิตชีวาของมัน หนังใหญ่มันต้องเชิด ต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรี ใจหายมากครับ ถ้าถึงวันที่หนังใหญ่มันไม่มีลมหายใจ ”
คณะละครชาตรีจงกลโปร่งน้ำใจ โดย จารุวรรณ สุขสาคร (ครูหมู)ตัวแทนคณะฯที่ได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ สาขาศิลปะการแสดง อยากส่งเสียงผ่านรางวัลคึกฤทธิ์ถึงสภาพปัจจุบันของศิลปินพื้นบ้าน
“ เราก็ดีใจนะว่าวิชาความรู้ที่เรามีอยู่ มีคนเห็นว่ามันมีคุณค่า ถึงให้รางวัลกับเรา รางวัลเป็นการการันตีจากหน่วยงานต่างๆ มันก็จะสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วคนก็จะเข้ามาเป็นลูกศิษย์ เข้ามาช่วยสืบสาน ครูหมูไม่ได้เรียนจากกรมศิลปากร เราเรียนจากพ่อแม่สอนเรา เป็นศิลปินพื้นบ้านธรรมดา วิถีของศิลปินพื้นบ้านคือต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ไม่ได้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน เพราะถึงเขามีงบสนับสนุน ศิลปินพื้นบ้านจริงๆ เขาไม่มีความรู้ว่า จะไปขอการสนับสนุนจากหน่วยงานไหน คนที่ไปของบจริงๆ คือคนที่มีความรู้ และคนที่ไปขอไม่ใช่ศิลปิน เงินที่ได้มาก็จัดฉากกันไป เพราะฉะนั้นมันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่โชคดีที่คณะครูหมูได้อยู่ตรงพระพรหมเอราวัณมีงานประจำเป็นหลัก เราก็มีทุนที่จะไปสอนเด็กๆ ได้ แต่ทุกคนไม่สามารถทำได้อย่างเรา พอทำไม่ได้ก็จะค่อยๆ หายไปๆ อย่างย่านหลานหลวงเมื่อก่อนมีคณะละครประมาณ 10 กว่าคณะ แต่ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 3 คณะ เขาก็ผันตัวเองไปทำอย่างอื่นกันเพราะละครชาตรีมันไม่สามารถเลี้ยงชีพได้แล้ว”
อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ พูดถึงการเป็นนักเขียนของเขาว่า “ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของผมเล่มแรก และเป็นเรื่องที่ทำให้ผมพลิกภาพจากนักหนังสือพิมพ์มาเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว หนังสือเรื่องนี้เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก แม้จนถึงทุกวันนี้คนก็เอาไปใช้เรียนกัน การได้รับรางวัลในฐานะนักเขียนเป็นความรู้สึกดีใจและภูมิใจ ยิ่งครั้งนี้เป็นรางวัลคึกฤทธิ์ ก็เหมือนผมได้รับรางวัลจากครู เพราะอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเหมือนเป็นครูนอกห้องเรียนคนหนึ่งของผม ผมอาศัยครูพักลักจำสมัยที่ผมอ่านหนังสือของท่านตั้งแต่เป็นนักเรียน และยังเข้าไปทำงานที่สยามรัฐกับท่าน เรียกว่าท่านเป็นต้นแบบในการเขียนหนังสือของผม ”
มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ คาดหวังให้การมอบรางวัลคึกฤทธิ์เป็นการส่งเสริม สนับสนุนผู้ที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้มีกำลังใจที่จะดำรงและอนุรักษ์ความเป็นไทยสืบต่อไป ติดตามกิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของไทย พร้อมอัพเดทข่าวสารต่างๆ จากมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ ผ่านช่องทาง Facebook: @kukritinstitute Tiktok: [email protected] IG: @kukritinstitute