สันต์ สะตอแมน
“สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย”..
ชื่อภาษาอังกฤษ Creative Workers Union Thailand (CUT) ก่อเกิดจากการรวมกลุ่มของคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นฟรีแลนซ์ เป็นแรงงานอิสระ..
ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม หรือความคุ้มครองตาม ม. 33!
อย่างเช่นนักวาด นักเขียน นักร้อง นักแสดง คนทำงานกองถ่าย และรวมถึงคนทำงานในพิพิธภัณฑ์!
โดยได้ก่อตั้งขึ้นหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และนัยว่าเจตจำนง-เป้าหมายไม่ได้เพียงแค่ต้องการให้คนทำงานสร้างสรรค์มีความเป็นอยู่ที่ดี..
แต่ได้มองไกลไปถึงการทำให้ในอนาคตคนเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย!
ส่วนจะประสบความสำเร็จตามความตั้งใจหรือไม่นั้นก็น่าจะขึ้นอยู่กับ “พลังสามัคคี” ของคนในแต่ละสาขาอาชีพที่เข้าไปรวมตัวอยู่ในสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯนั่นเอง!
เท่าที่ได้ติดตามข่าวมาก็ได้พอจะมองเห็นเค้าลางไปในทางบวกอยู่มาก และหากภาครัฐจะได้ให้การสนับสนุนจริงจัง องค์กรนี้ก็น่าจะแข็งแรง-มีพลังเป็นที่หวัง-ที่พึ่งของฟรีแลนซ์ได้!
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา..เพจนสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ ก็ได้เผยแพร่แถลงการณ์ว่า..
“สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) ร่วมปกป้องสวัสดิภาพของแรงงานกองถ่าย
ด้วย “กฎเกณฑ์ใหม่” ในการคัดเลือกภาพยนตร์ที่เข้าประกวดรางวัลของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของสวัสดิภาพและสวัสดิการของแรงงานเป็นสำคัญ
โดยภาพยนตร์เรื่องใด มีการร้องเรียนเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่เหมาะสม มีระยะเวลาเลิกกอง จนถึงระยะเวลาเรียกกองใหม่ (Turnaround) น้อยกว่า 10 ชั่วโมง
จนเป็นเหตุให้ทีมงานไม่มีโอกาสได้พักผ่อนอย่างเหมาะสม ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย จะขออนุญาตตัดสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกจากการประกวด”
คนกองที่พบเจอกับความไม่เป็นธรรมและการใช้แรงงานที่ไม่เหมาะสม สามารถส่งเรื่องร้องเรียนมายังสหภาพแรงงานสร้างสรรค์เพื่อร่วมดำเนินการกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทยขอขอบคุณ ชื่นชมสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ที่จะเป็นจุด “เริ่มต้น” ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
และต่อจากนี้สหภาพแรงงานสร้างสรรค์จะร่วมกับคนงาน รวมถึงกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ผลักดัน ข้อเสนอ
ทำงานไม่เกิน 12 ชั่วโมง/วัน (8 เวลาปกติ + 4 ล่วงเวลา) มีระยะเวลาเลิกกอง จนถึงระยะเวลาเรียกกองใหม่ (Turnaround) ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ต่อไป”
ครับ..ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะไม่ให้คนงาน-ผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หวังว่ามาตรการ (เด็ดขาด) นี้..
จะทำให้บริษัทผู้สร้าง-กองถ่ายภาพยนตร์ได้ตระหนักถึงความเป็นธรรมขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ได้เห็นแก่ได้-แก่ประโยชน์ฝ่ายตนตะพึดตะพือ!
เออ..แล้วสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ที่เป็น “องค์กรหลัก” ของผู้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยล่ะ ไม่ได้มีบทบาท-ส่วนร่วมในเรื่องนี้เลยหรือ?
หรือว่าตั้งแต่เกิดกรณี “ตัดสิทธิ์การประกวดภาพยนตร์” จนต้องไปนั่งเคลียร์ปัญหากันต่อหน้าคุณกรรชัย ในรายการโหนกระแสคราวนั้นแล้ว
ทำให้เกิดความบาดหมางทางใจถึงขั้นไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ ด้วยกัน ก็ควรจะได้บอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้เสียอย่าได้คลุมเครือ!
แต่ถ้ายังปกติดีอยู่ หมายถึงไม่ได้มีความรู้สึกคับข้องหมองใจกันแล้ว ผมมองว่าCUT ควรนำปัญหา หรือความคิด-ความต้องการอื่นๆ เข้าไปหารือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ฯก็จะดูดี
เพราะนอกจากจะทำให้เกิดพลังมากขึ้นแล้ว ยังจะแสดงให้เห็นว่าCUTได้ให้เกียรติให้ความสำคัญกับองค์กรคนทำหนัง ส่วนหากอีกฝ่ายจะทำเป็นเมิน หรือนิ่งดูดาย..
นั่นก็..ทิ้งไว้ข้างหลังเถอะ ไม่มีใครตำหนิหรอก!