ผักกาดหอม
หลุดมาแล้ว….
เอกสารคำชี้แจง นโยบายแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์
มาดูกันเลยครับ….
————————–
หัวใจสำคัญของนโยบาย
๑.ประชาชนต้องได้รับโอกาสในการใช้ศักยภาพของตนเอง เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวม
๒.ประชาชนมีสิทธิ์กำหนดชีวิตของตนเองได้อย่างเสมอภาค
ประชาชนสามารถยกระดับรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ดำเนินการพัฒนาระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตนเองสามารถทำได้ด้วยตัวประชาชน
มาตรการการโอน มาตรการทางการคลัง
รัฐบาลโอนสินทรัพย์ที่เรียกว่า เหรียญดิจิทัล (Digital Coin หรือเรียกว่า เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย) เข้าสู่กระเป๋าเงิน ตามเลขที่ลงทะเบียนไว้ เช่น ประชาชนไทย อายุ ๑๖ ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประชาชน เลข ๑๓ หลัก ประมาณ ๕๐ ล้านคน ในเบื้องต้น เพื่อทดลองโอนกระเป๋าละ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท เอกสารดังกล่าว ระบุด้วยว่าแล้วแต่นโยบายรัฐบาลและทรัพยากรทางการเงิน ต้องพิจารณาต่อไป
ภาพเหตุการณ์ที่ ๑
การโอนทางการคลัง ขั้นต่ำ ๕๐ ล้าน x ๕,๐๐๐ บาท = ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท จะก่อเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมหภาค ๖ เท่า (Marginal Propensity to consume = 0.7, Multiplier = 6) ก่อให้เกิดการหมุนเวียน (ในราคาปัจจุบัน) ๒๕๐,๐๐๐ x ๖ = ๑,๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (one time shock and last 6 months) ผลการโอนจะส่งผลต่อการบริโภคในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (๑๗.๓๖ ล้านล้านบาท ณ ราคาปัจจุบัน ในปี ๒๕๖๕ + ๑.๕ ล้านล้านบาท)
ภาพเหตุการณ์ ที่ ๒
การโอนทางการคลัง ขั้นต่ำ ๕๐ ล้าน x ๑๐,๐๐๐ บาท = ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท จะก่อเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมหภาค ๖ เท่า (Marginal Propensity to consume = 0.7, Multiplier = 6) ก่อให้เกิดการหมุนเวียน (ในราคาปัจจุบัน) ๕๐๐,๐๐๐ x ๖ = ๓,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (one time shock and last 6 months) ผลการโอนจะส่งผลต่อการบริโภคในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (๑๗.๓๖ ล้านล้านบาท ณ ราคาปัจจุบัน ในปี ๒๕๖๕ + ๓.๐ ล้านล้านบาท)
การกระตุ้นเศรษฐกิจ
การกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค การกระตุ้นการบริโภค ส่งผลต่อให้เกิดการกระตุ้น การลงทุนของภาคเอกชน การส่งออกสุทธิ (Export-Import) ผนวกกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย (ที่พรรคนำเสนอ กกต.) โดยรักษาเสถียรภาพทางราคาและวินัยการเงิน การคลัง จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหภาคได้ร้อยละ ๕% ต่อปี ในปี ๒๕๖๗-๒๕๖๘, ๒๕๖๙ และ ๒๕๗๐ ตามลำดับ เอกสารดังกล่าวระบุว่า การวิเคราะห์ในรายละเอียดนำเสนอต่อไป
วินัยการเงิน-การคลัง
รัฐบาลมอบกรมสรรพากร ให้เชิญชวนร้านค้าที่เข้าร่วมรายการติดตั้ง Point of Sale (POS) เพื่อบันทึกการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value added tax) จากการซื้อขาย หากยอดขายต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และถ้ารายได้ของการประกอบการต่ำกว่าเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีรายได้
ทั้งนี้ เพื่อระดมทรัพยากรการโอนเงินดิจิทัลในรอบถัดไป ทั้งสองภาพเหตุการณ์ รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ๑๐๕,๐๐๐-๒๑๐,๐๐๐ ล้านเป็นอย่างต่ำ (ยังไม่นับรวมรายรับภาษีรายได้ของบุคคลและนิติบุคคล)
ไม่สร้างปัญหาต่อนโยบายการเงิน
เหรียญดิจิทัลเพื่อไทยสามารถนำไปใช้จ่ายได้กับร้านค้าต่างๆ ในชุมชนรัศมี ๔ กิโลเมตร โดยร้านค้าจะต้องมี Digital Wallet ในระบบเดียวกันเพื่อรับชำระ การใช้เหรียญดิจิทัลนี้จะหมดอายุใน ๖ เดือน เพื่อไม่ให้เกิดตลาดรอง และสร้างความยุ่งยากต่อระบบเงินตรา ตามปกติในกรณีการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการจ้างงานสาธารณะ แต่ยืดอายุตามความเหมาะสมกรณีการเพิ่มทักษะ
เพื่อไม่ให้เกิดการโอนทางการคลังซ้ำซ้อนเป็นภาระทางงบประมาณ ผู้ที่เข้าสู่ระบบ Digital Wallet PT รัฐบาลจะป้องกันไม่ให้เกิดการโอนทางการคลัง หลายๆ โครงการที่ทำโดยรัฐบาลที่ผ่านมา โดยใช้ระบบ Blockchain ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลที่บันทึกแล้วไม่ให้เกิดการรับ การโอนซ้ำซ้อน
———————-
อ่านจบแล้วแทนที่จะเข้าใจ กลับมีคำถามมากกว่าเดิม
ประการแรก “เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย” ใช้ชื่อนี้จริงๆ ใช่แล้วหรือไม่?
ถ้าจริง นับเป็นความอัปยศอดสูทางการเมืองอย่างที่สุด
พรรคเพื่อไทยเอางบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน ไปตั้งชื่อโครงการโดยใช้ชื่อพรรคตัวเอง
ใครอนุญาต
มีสิทธิ์อะไร เงินของทักษิณหรือ?
เห็นหัวผู้เสียภาษีบ้างหรือเปล่า
ตั้งเงินสกุลเงินดิจิทัลสกุลใหม่ ชื่อ “สกุลเพื่อไทย” อย่างนั้นหรือ
กรณีนี้รับไม่ได้ครับ
ประเด็นถัดมา พรรคเพื่อไทย เอาตาม ภาพเหตุการณ์ ที่ ๒ คือแจกหัวละหมื่นบาท คาดว่าก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมูลค่า ๓ ล้านล้านบาท
ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
เพียงแต่ ยังครับ ยังไม่ตอบ เรื่องที่มาของเงินที่แจก ๕ แสนล้านบาท ว่าจะเอามาจากไหน
แต่ไปตอบโน่นแทน หลังจากแจกเงินแล้ว จะทำให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้น ๑๐๕,๐๐๐-๒๑๐,๐๐๐ ล้านเป็นอย่างต่ำ (ยังไม่นับรวมรายรับภาษีรายได้ของ บุคคลและนิติบุคคล)
หมายความว่า จะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ก็ปีงบฯ ๒๕๖๘ ไปแล้ว
สรุปคือไม่มีคำตอบสำหรับหัวเชื้อ ๕ แสนล้าน
มาดูการชี้แจงเรื่องวินัยการเงิน-การคลัง
ตอบไม่ตรงคำถามครับ
ในคำชี้แจงไปตอบเรื่อง ร้านค้าเข้าระบบใช้เงินดิจิทัล จะถูกต้อนเข้าระบบภาษี หนีไม่ได้ จากระบบ Point of Sale (POS) คนที่ยอดขายต่ำ ไม่ต้องเสียภาษี
เกิดคำถามครับ ถ้าขยายฐานภาษีพวกพ่อค้าแม่ค้า ก็ดีครับ เราจะได้เก็บรายได้ ได้มากขึ้น ส่วนเรื่องคนรายได้น้อยไม่ต้องเสียภาษี ก็เป็นหลักการปกติของการเสียภาษี
แต่ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยยังไม่ตอบครับ ว่าการเอาเงิน ๕ แสนล้านมาแจกโดยที่คนรับไม่ต้องทำงานให้เหน็ดเหนื่อยนั้น จะมีผลกระทบ ผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
ย้อนไปอ่านข้างบนอีกทีครับ
คำชี้แจงพูดแต่ด้านบวก แผนนี้จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตปีละ ๕% ในช่วง ๔ ปี (๒๕๖๗-๒๕๗๐) ภายใต้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
แต่ไม่ได้บอกความเสี่ยง เสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ที่เห็นรำไร คือเรื่องเงินเฟ้อ
ถ้าประกาศว่าจะแจกเงิน ๕ แสนล้านเมื่อไหร่ ราคาข้าวของก็จะขึ้่นพรวดไปรอแล้วครับ
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือเงินเฟ้อ
คนที่ได้รับแจกเงินต้องเร่งใช้จ่ายภายใน ๖ เดือน ก่อนหมดเวลา
อย่างที่เคยพูดไปแล้ว เรื่องเงินเฟ้อ นี่นักเศรษฐศาสตร์กลัวนักกลัวหนา อย่างอเมริกา เฟดก็กลัวมาก ขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุด จนมีผลกระทบเรื่องธนาคารล้มละลาย
ความเสียหายในภาคการเงินที่จับต้องได้ ซึ่งนักศึกษาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยก็ยังรู้ครับ
แต่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ ก็คือ การบ่มเพาะนิสัยไม่อยากทำงาน และรอรัฐเลี้ยงให้แก่คนไทยครับ
แม้ตอนนี้ มองไม่เห็นว่า DNA ไม่คิดทำมาหากิน จะกลายเป็นนิสัยในอนาคตก็เถอะ
แต่เรื่องนี้ประมาทไม่ได้ เป็นสิ่งน่ากลัว
เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ทำให้คนต้องพึ่งพารัฐตะบี้ตะบันตลอดเวลา ยืนบนขาตัวเองไม่ได้
หรือนี่จะเป็นการปลูกฝังให้คนในชาติอ่อนแอ.