หมูเถื่อน ขวางลำฟื้นฟูการผลิตหมูไทย

จุฑา ยุทธหงสา ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์

“หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” หรือชื่อใหม่ในวงการเรียกขานคือ “หมูเทา” ที่รัฐบาลต้องกำจัดให้หมดไปจากประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นฟูการผลิตหมูไทยให้กลับสู่สถานการณ์ปกติที่ 19 ล้านตัวต่อปี เพื่อรองรับการบริโภคของคนไทยอย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสมเข้าถึงได้

เพราะหมูเถื่อนกดราคาหมูไทยให้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจากราคาหน้าฟาร์มที่เคย 100 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุดลดลงเหลือ 84-88 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว โอกาสที่ผู้เลี้ยงหมูไทยจะลืมตาอ้าปากได้อาจจะไม่ใช่ภายในปีนี้หรือแม้แต่ปีหน้าคงเป็นเรื่องยาก

ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงได้รับผลกระทบจาก “หมูเถื่อน” หนักหนาสาหัส เพราะราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มตกต่อเนื่องรวมแล้ว 18 บาท ไปอยู่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และหากยังปล่อยหมูผิดกฎหมายเข้ามาท้าทายมีโอกาสสูงมากที่ราคาจะไหลลงไปถึง 70 บาท ได้

ส่งผลให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องปรับฐานราคาถึง 2 ครั้งในเดือนเดียวกันรวม 8 บาท จึงทำให้ราคาขยับขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 84-88 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงลดภาระขาดทุน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ รวมตัวกันยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากเนื้อหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย

โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือและรับปากเร่งรัดทุกหน่วยงานราชการและสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้รับข้อเรียกร้องจากสมาคมฯ ดำเนินการแก้ปัญหา พร้อมแนะนำให้ผู้เลี้ยงสุกรนัดเข้าพบกรมศุลกากรที่เป็นต้นทางของการกระทำความผิดเพื่อหารือรายละเอียดและแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกฯ เคยออกสั่งการหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ปราบปรามหมูเถื่อนอย่างเคร่งครัดและรัดกุม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้เลี้ยงและให้ดูแลผู้บริโภคอย่างดี

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ทำหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์แบบทำความเย็นที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังทั้งหมด เพื่อตรวจสอบว่ามีหมูเถื่อนซุกซ่อนอยู่หรือไม่ เพราะหากเล็ดลอดออกไปได้จะเป็นผลร้ายทวีคูณกดราคาหมูมีชีวิตให้ต่ำลงไปอีก เนื่องจาก พ่อค้าคนกลางไม่จำเป็นต้องซื้อหมูเป็นจากฟาร์ม แต่สามารถซื้อชิ้นส่วนหมูเถื่อนแช่แข็งและส่งมอบให้เขียงได้ทันที

ซึ่งราคาหมูเถื่อนนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก หรือประเทศแถบยุโรป รวมค่าจนส่งและค่าบริหารจัดการแล้วยังขายเนื้อแดงได้ในราคากิโลกรัม 135-145 บาทต่อกิโลกรัม คำนวณเป็นต้นทุนที่ต้นทางจะอยู่ที่ประมาณ 40-60 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

สำหรับผู้เลี้ยงหมูไทย ที่ทยอยนำหมูเข้าเลี้ยงตั้งแต่ปลายปี 2565 อาจจะชะลอการเลี้ยงอีกครั้งหากสถานการณ์ราคายังไม่สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง เพื่อลดการขาดทุนสะสมตั้งแต่ช่วงโรคระบาด ASF ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์แม้จะลดลงก็เพียงเล็กน้อยไม่มีนัยสำคัญ

สำหรับราคาข้าวโพดปรับลดลงจาก 13.50 บาทต่อกิโลกรัม เหลือประมาณ 12.50 บาท ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง ต่อการบริหารจัดการและยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าและค่าแรงงานที่เกษตรกรต้องแบกภาระอยู่ ที่สำคัญ “หมูเถื่อน” เป็นเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดที่อาจจะส่งผลถึงผู้บริโภคอีกด้วย

อนาคตของอุตสาหกรรมหมูไทย จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับนโยบายภาครัฐในการกำหนดแนวทาง “ความมั่นคงทางอาหาร” ของประเทศไว้ในทิศทางใด หากปัญหา “หมูเถื่อน” ไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีและจริงจัง ผู้เลี้ยงหมูไทยคงถอดใจเลิกเลี้ยงหมูคุณภาพดีและปลอดภัยในไม่ช้า และในอนาคตอันใกล้ไทยอาจจะต้องนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ที่ราคาต่ำกว่าไทยมากซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ

ซึ่งมาตรฐานการเลี้ยงและการขนส่งของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน อาจมีสารปนเปื้อนหรือโรคระบาดติดเข้ามาได้ ต่างจากหมูไทยที่กรมปศุสัตว์กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดตามมาตรฐานสากล ปลอดสารเร่งเนื้อแดงและควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัด เป็นหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค แต่หากหมูเถื่อยังวนเวียนและกดดันราคาต่อเนื่องแบบนี้ การฟื้นฟูการผลิตหมูไทยคงไปไม่รอดต้องม้วนเสื่อปิดกิจการในไม่ช้า

Written By
More from pp
ได้เวลาช่วยโลกแล้ว….ทรูปลูกปัญญา เปิดโครงการประกวดภาพยนตร์โฆษณา เพื่อสังคม True Young Producer Award 2020 ปลูกใจ(รักษ์)โลก ในหัวข้อ “ใช้พลาสติกอย่างรู้คิด เพื่อทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อม  
4 ส.ค. 63 – นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดภาพยนตร์โฆษณาเพื่อสังคม ครั้งที่ 16 True Young...
Read More
0 replies on “หมูเถื่อน ขวางลำฟื้นฟูการผลิตหมูไทย”