“เนติวิทย์” พระผู้พบแล้ว – เปลว สีเงิน

คลิกฟังบทความ…?

เปลว สีเงิน

สังเกตกันมั้ย?
ว่าในรอบปี มีคนๆ หนึ่งที่ร้อนแรงทางความคิดนำสังคมคนรุ่นใหม่หายไป
นั่นคือ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล”
ผู้นำคิดปฎิวัติวัฒนธรรมและสังคมปกครองประเทศทุกรูปแบบ ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนักเรียนมัธยม

เมื่อเนติวิทย์เข้าสู่รั้วมหา’ลัย เป็นนิสิตจุฬาฯ คณะรัฐศาสตร์

จึงเป็น “พิมพ์นิยม” ของขบวนการนักวิชาการกลุ่ม “ชังชาติ-ล้มสถาบัน” ที่หวังใช้เขาเป็นตัวเคลื่อนไหวทางออกหน้าแทน

เนติวิทย์กำลังเหมือนนักวิ่งร้อยเมตรพุ่งนำจากจุดสตาร์ทแล้วจู่ๆ ก็ “แหกลู่”หายเงีบบไป ชนิดเฉียบพลัน!

เนติวิทย์หายไปไหน?
คำตอบ คือ ประหนึ่งบุญญาภินิหาร ก่อนจะพุ่งลงเหว เนติวิทย์หักเลี้ยว ชนิด ๓๖๐ องศา

จากหุบเหว พุ่งขึ้นสู่ยอดเขาไกรลาส จากร้อนนรก สู่เย็นอมตธรรม

เนติวิทย์ บวชเป็นพระภิกษุหน่อเนื้อพระพุทธองค์ ครองศีล ๒๒๗ ศึกษาปริยัติ คร่ำเคร่งปฎิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนา

เป็นศิษย์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ณ วัดญาณเวศกวัน ตั้งแต่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๖๖๕ ถึง ณ ปัจจุบัน

ผม “ทึ่ง” ด้วย “ศรัทธา” ในตัวท่านเนติวิทย์มากจริงๆ!

“ข้างหน้าคือหุบเหว กลับหลังหันคือฟากฝั่ง” ในโลกนี้ ไม่มีอะไรบังเอิญ แล้วบุญ-กรรมอันใดเล่า “กำหนดทิศ-ชี้ทาง” อันผมมิเคยคิดมาก่อนได้เช่นนี้

ต้องบอกว่า เป็นบุญวาสนาของท่านเนติวิทย์ยิ่งนัก ขอกราบอนุโมทนา และขอเกาะชายผ้าเหลืองไปด้วย

“เนติวิทย์” ไม่มีแล้วในทางอบาย
มีแต่ “จรณะสัมปันโน ภิกษุ” ผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะในทางธรรม

จรณะ คืออะไร?
ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่านเจ้าคุณประยุทธ์บอกว่า จรณะ หมายถึง ความประพฤติ, ข้อปฎิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชชาหรือนิพพาน มี ๑๕ ข้อ

๑. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๒. อินทริยสังวร สำรวมอินทรีย์

๓. โภชนมัตตัญญุตา รู้ความพอดีในการกินอาหาร
๔. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่

๕. สัทธา ความเชื่อ
๖. หิริ ความละอายแก่ใจ
๗. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผิด

๘. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ฟังมาก คือได้รับศึกษา
๙. วิริยะ ความเพียร
๑๐. สติ ความระลึกได้

๑๑. ปัญญา ความรอบรู้
๑๒. ปฐมฌาน ฌานที่หนึ่ง
๑๓. ทุติยฌาน ฌานที่สอง

๑๔. ตติยฌาน ฌานที่สาม
๑๕. จตุตถฌาน ฌานที่สี่

ก็บอกเพียงให้รู้ ส่วนเนื้อหา ลึกเกินกว่าแค่พูดแล้วเราๆ  ท่านๆ จะเข้าถึง

เหตุที่นำเรื่องพระเนติวิทย์ หรือ “จรณะสัมปันโน ภิกษุ” มาคุย เพราะวานซืนผมอ่านข่าวนี้ในเว็บไทยโพสต์ เห็นน่าสนใจ เพราะมีมุมน่าใคร่ครวญและติดตามดู

ข่าวว่าอย่างนี้ครับ………..
28 มี.ค.2566 – ภายหลัง กองทัพบก แจ้งเตือนชายไทย เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองประจำการ ประจำปี 2566 ใน 1- 20 เมษายน (เว้นวันที่ 6 และ 13 – 15 เมษายน 2566)

โดยชายไทยที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารในปีนี้ ได้แก่ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2545 (อายุครบ 21 ปีบริบูรณ์)

กับผู้ที่เกิดพ.ศ.2535 -2544 (อายุ 22-29 ปี) ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกหรือการตรวจเลือกยังไม่แล้วเสร็จ

โดยให้เข้ารับการตรวจเลือก ตามวัน เวลา และสถานที่ ในหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)

พร้อมนำเอกสารไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ได้แก่ บัตรประชาชน,ใบสำคัญทหารกองเกิน (สด.9), หมายเรียกฯ (สด.35) ,วุฒิการศึกษา

และใบรับรองแพทย์ สำหรับผู้ที่ขอผ่อนผันให้ไปรายงานตัวในวันตรวจเลือกด้วย

สำหรับปีนี้ พระเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหาร หรือ จับใบดำ-ใบแดง 9 เม.ย.หลังหมดสิทธ์การผ่อนผันแล้ว เนื่องจากอายุครบ 27 ปี

ซึ่งตาม พรบ.การเกณฑ์ทหารต้องเข้ารับการตรวจเลือก แม้จะยังศึกษาอยู่ก็ตาม โดยมีการทำเรื่องผ่อนผันไปแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งเมื่อปี 2565 ถือเป็นปีสุดท้าย

นี่แหละครับ เรื่องของพระเนติวิทย์ที่น่าทึ่งสำหรับผม

คำว่า “วัยแสวงหา” ที่เหล่านักศึกษาใช้กัน
การแสวงหาดังเช่นพระเนติวิทย์ คือนิยามคำว่า “แสวงหา” ด้วยปัญญาค้นหาแท้จริง ตรงข้ามกับการแสวงหาด้วย “มิจฉาทิฐิ” ของคนกลุ่มหนี่งที่เรียก ๓ นิ้ว

ผมไม่ได้หมายถึงการบวชเท่านั้น คือการแสวงหาที่ใช่

ไม่จำเป็นหรอกครับ ต้องเข้าใจด้วยว่า พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาของคนมีปัญญา

เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนเชื่อ ไม่ได้สอนให้คนสุดโต่งไปทางใด-ทางหนึ่ง การเข้าถึงพระพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องบวชเป็นพระอย่างเดียว

ทั้งพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ยึดพระพุทธเจ้า
หากแต่พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้หลักเหตุ-และผล และความเป็นจริงตามธรรมชาติ

ในชีวิต ธุรกิจ การงาน ทุกอย่าง จงใช้สติตรองทุกสิ่ง ที่พูด ที่คิด ที่ทำ

เมื่อสติตรอง ปัญญาจะเกิดตามมา เมื่อมีปัญญา ก็ไม่จำเป็นต้องไปยึดอะไรแล้ว

เพราะรู้เอง สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนควรเว้น

ผมถึงบอกว่าพระเนติวิทย์ เป็นผู้มีปัญญา แสวงหาจุดมุ่งหมายอันเป็นแก่นสารชีวิตตั้งแต่เด็ก การแสวงหา ย่อมผิดทางบ้าง-ถูกทางบ้าง

และบัดนี้ ท่านพบทางที่ถูกแล้ว ได้พบครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐดังเช่น “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” แล้ว

การที่พระเดชพระคุณเจ้าเมตตารับท่านเนติวิทย์เป็นอันเตวาสิก เป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนทั้งปริยัติและปฎิบัติในสำนัก นับว่าพระเนติวิทย์มีวาสนายิ่งนัก

และด้วยความเป็นผู้มีปัญญา……
เมื่อพบครูอาจารย์ดี ได้รับการอบรมสั่งสอนใน “ศีล สมาธิ ปัญญา” อันเป็นทางถูกจากพระเดชพระคุณเจ้า

นั่นก็คือ ท่านเนติวิทย์ แสวงหา “สัจจชีวิต” พบแล้ว!

การกลับหลังหัน จากนรกสู่สวรรค์ด้วยการเข้ามาบวชในสำนักท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน

ถ้าบวชสักแต่ว่าบวช, บวชแก้บน, บวชเพราะรำคาญพ่อแม่เซ้าซี้ให้บวช จะไม่เกิดขึ้นแน่กับคนอย่างเนติวิทย์

และท่านเจ้าคุณประยุทธ์ก็คงไม่รับเป็นศิษย์อยู่ในสำนัก

ฉะนั้น เหตุการณ์นี้ ต้องบอกว่า “ปาฎิหาริย์แห่งธรรม” โดยแท้

กว่าพรรษา ไม่มีท่าทีพระเนติวิทย์จะลาสิกขา!?

มิหนำซ้ำ กลับเป็นภิษุผู้สำรวม เป็นผู้มีศีลสังวรณ์ สมนามว่า “จรณะสัมปันโน” ผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ จนเปล่งปลั่งด้วยรังสีธรรม

เคยมีข่าวว่า มีเพื่อนหญิง-ชายสมัยเป็นนักศึกษาไปเยี่ยมที่วัด แล้วถ่ายรูปกับพระเนติวิทย์มาเผยแพร่

บังเอิญสีกาผู้นั้น แต่งตัวไม่ค่อยเหมาะกับการเข้าวัด เมื่อภาพปรากฎออกไป มีหลายคนใช้ความคิดฉาบฉวย วิพากษ์-วิจารณ์
ที่น่าเสียดายมากๆ ใช้อารมณ์วิพากษ์แทนสติ แยกความเป็นเนติวิทย์กับความเป็น “จรณะสัมปันโน ภิกษุ” ไม่ออก

การวิพากษ์นั้น นอกจากไม่เป็นคุณกับสังคมแล้ว ยังเป็นโทษกับตัวเองเต็มๆ!

แต่พระเนติวิทย์นิ่ง
ไม่มีทั้งปฎิกริยา ทั้งวาจาใดๆ ตอบสนอง

การวิพากษ์เยี่ยงปฎิกูลสาดใส่นั้น!
เหล่านี้ คือสิ่งที่ผมติดตามความเป็นไปของพระเนติวิทย์ในรอบปีด้วยปลื้มปีติ

ก็วันที่ ๙ เมษา.นี้แหละพระเนติวิทย์ ต้องไปจับ “ใบดำ-ใบแดง” ตามพรบ.การเกณฑ์ทหาร ที่ขอผัดผ่อนมาจนถึงปีสุดท้ายแล้ว

ถ้าจับได้ใบแดง ท่านก็ต้อง “ลาสิกขา” ไปเป็นทหารเกณฑ์ ถ้าจับได้ใบดำ ก็รอด!

เส้นทางของพระเนติวิทย์ น่าลุ้น น่าสนใจ น่าศึกษา เรียกว่า “ท้าทาย” ชนิด “หักมุม” ทุกช็อต

๙ เมษา.เป็น “หัวเลี้ยว-หัวต่อ” ในเส้นทางแยกที่น่าจับตา
แต่ผมแอบดีใจว่า ไม่ว่าอยู่สถานะไหน ต่อจากนี้

พระเนติวิทย์ คือ….
ผู้คนพบวิธี “ปฎิวัติสังคม” ด้วยการ “ปฎิวัติตัวเอง” ในเส้นทาง “แสวงหา” ของคนรุ่นใหม่แล้ว!

เปลว สีเงิน
๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖

Written By
More from plew
“ปิดประเทศ” แล้ว ยังไม่รู้ตัว?
รำคาญหญิง ส.ท.ร.จังเลย! ใครมีเก้าอี้ผุๆ เอาไปบริจาคให้เธอนั่งแก้กระซ่านซักตัวเหอะ เรื่องโควิด “เปิด-ปิด” ประเทศน่ะ
Read More
0 replies on ““เนติวิทย์” พระผู้พบแล้ว – เปลว สีเงิน”