เลิกใส่ร้าย-โยนบาป?-สันต์ สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

หนังไทยก้าวไม่ไกล..

มีหลายปัจจัย-หลายเหตุผลที่คนในวงการภาพยนตร์มักจะยกมาอ้าง-มาบ่น-มาตำหนิ และหนึ่งในนั้น..

ก็..มี “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์” ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมอยู่ด้วย

ซึ่งหน้าที่หลักคือ ตรวจพิจารณาภาพยนตร์และกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ หรือ RATTING..

โดยยึดหลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฏกระทรวง!

หมายความว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯจะต้องใช้แนวทางเดียวกันในการพิจารณา แต่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างได้ และสุดท้ายก็ต้องใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน

คณะกรรมการฯประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา มีทั้งหมด 7 คณะ คณะละ 7 ท่าน เฉลี่ยดูหนังคณะละ 2 วันต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับจำนวนหนังที่ยื่นขอตรวจพิจารณา

เวลานี้ดูเหมือนคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากสื่อหลักและสื่อโซเชียลอยู่มากจากกรณีที่ได้สั่งแบนหนังเรื่อง “หุ่นพยนต์” ของบริษัทไฟว์สตาร์ฯ

จะเป็น “คณะ” ไหน รายชื่อกรรมการมีใครบ้างไม่รู้ แต่ที่รู้อีก 6 คณะก็ต้องพลอยฟ้า-พลอยฝน ถูกด่า ถูกดูแคลน ถูกเหยียดหยันเย้ย คร่ำครึ พวกไดโนเสาเต่าล้านปี และอีกสารพัดไปด้วย

ถามว่าเป็นธรรมไหม ตอบเลย ไม่ค่อยจะเป็นธรรมนัก แต่ด้วยสปิริตแต่ละคณะ แต่ละกรรมการต่างก็ปิดปากไม่ตอบโต้ หรือออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ตรวจพิจารณาหนังเรื่องนี้

ส่วน “คณะ” ที่พิจารณาและไม่ได้ออกมาแสดงตัวตนก็ไม่ได้หมายความว่าขี้ขลาด ละอายหากแต่คงคิดไม่อยากตกเป็นเครื่องมือโฆษณา-ประชาสัมพันธ์หนัง

แต่พร้อมจะไปสู้-ไปว่ากันในชั้นศาล ถ้าผู้สร้าง-ผู้กำกับคิดจะเอาเรื่อง เหมือนที่คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ ผู้กำกับได้เคยฟ้องกรณีหนัง INSECTS IN THE BACKYARD โดนแบนเมื่อหลายปีก่อน

นี่..คือความรับผิดชอบของกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ เพราะทุกท่านย่อมรู้ดี ว่าการพิจารณาภาพยนตร์นั้น จะกลั่นแกล้ง หรือใช้อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินไม่ได้

การพิจารณาต้องเป็นไปตามตามตัวบทกฎหมาย-กฎกระทรวง ที่ต้องกาง-ต้องดูทุกตัวอักษร (จากคู่มือ) ในการประชุมก่อนจะกำหนดเรตติ้ง

คือ..กรรมการต้องนั่งดูหนังในห้องฉายแคบๆ ที่สำนักภาพยนตร์ จบแล้วก็เข้าห้องประชุมเพื่อพิจารณา-กำหนดเรตติ้ง โดยประธานฯ จะถามความคิดเห็น และให้แต่ละท่านได้อภิปราย

หากฉากไหน-ตรงไหนเห็นควรที่ให้เล็มให้ตัดออก ก็จะมีการบันทึกเพื่อขอความร่วมมือจากผู้กำกับฯ พูดตรงๆ ขอความอะลุ่มอล่วยกัน แต่ถ้าผู้กำกับยืนยันไม่แก้ไข-ไม่ตัดใดๆ ทั้งสิ้น..

กรรมการก็ต้องมานั่งพิจารณา-ถกเถียงกันใหม่ และก็จบลงด้วยการโหวต โดยเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะไป!

ผมเชื่อในเกียรติของคณะกรรมการ และมั่นใจไม่มีฝ่ายอำนาจรัฐเข้าไปสั่งการใดๆ กับการพิจารณาภาพยนตร์เป็นแน่ เพราะไม่มีเหตุผลใดที่รัฐจะต้องทำเช่นนั้น

พูดกันอย่างเป็นธรรม รัฐเองได้ใช้งบ-ใช้เงินให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาโดยตลอด ทั้งตั้งกองทุน ทั้งการนำหนังออกสู่ตลาดนอก และอีกหลากหลายช่องทาง

ในความเห็นผม คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ น่าจะไม่ใช่ตัวถ่วงความเจริญ หรือตัวฉุดรั้งให้หนังไทยก้าวไปไม่ไกล แต่เป็นไปได้ไหม..

ว่า..วงการหนังไทยนั้นค่อนข้างจะขาดแคลน “คนเขียนบทภาพยนตร์” ที่เก่ง มีความรู้ ความสามารถ ซ้ำยังติด “กับดัก” นายทุน รวมถึง “ตัณหา-ความอยาก” ของตัวผู้กำกับ (บางคน) เอง!

เลิกใส่ร้าย โยนบาปให้คณะกรรมการฯ เสียทีเถอะ!

Written By
More from pp
สิ่งที่มันเลว อย่าคิด อย่าทำ
เราอย่าไปปรารถนาเอาแพ้เอาชนะกับใคร ถ้าปรารถนาเอาแพ้เอาชนะกับใคร มันเท่ากับวนเวียนอยู่ในโลกวัฏสงสาร หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ใครจะชั่วจะดีอย่างไร ดีกับชั่วมันอยู่ในโลก ไม่ได้เลือกหน้าผู้ใด เหมือนจับไฟ ใครจับไฟก็ร้อนทั้งนั้นล่ะ เหมือนที่หลวงพ่อสอนว่า กรรมชั่วอย่าทำเสียเลยดีกว่า
Read More
0 replies on “เลิกใส่ร้าย-โยนบาป?-สันต์ สะตอแมน”