“ศักดิ์สยาม” เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2566

1 มีนาคม 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม

โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.)ผู้แทนภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ประกอบกับคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 5/2563 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และเร่งรัดติดตามผลการดำเนินการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

การประชุมในวันนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่ประชุมได้รายงานผล การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ ในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงฯ ดังนี้

1. การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย 13 เรื่อง

1) นโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินของ รฟท.
จากการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 การสอบทานยืนยันข้อมูลชุมชนร่วมกัน ระหว่าง รฟท. พอช. และชุมชน เมื่อข้อมูลชุมชนได้รับการตรวจสอบยืนยันครบถ้วนแล้ว จะได้เสนอพิจารณาถือใช้นโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท. ทั่วประเทศ ตามมติคณะกรรมการ รฟท. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 การนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการฯ คาดว่าจะดำเนินภายในเดือน มีนาคม – เมษายน 2566 ทั้งนี้ รฟท. แจ้งยืนยันข้อมูลชุมชนต่อ พอช. เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 เพื่อเสนอเป็นข้อมูลต่อสำนักงบประมาณ พิจารณาก่อนรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี

2) กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ ชุมชนบุญร่มไทร และชุมชนแดงบุหงา เขตพญาไท จำนวน 212 ครัวเรือน เนื่องจาก เดิมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวสูงของ กคช. ติดปัญหากรณีการถมบึงมักกะสัน รฟท. พอช. และภาคประชาชน จึงขอเสนอแนวทางการปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัยในแนวราบ (บ้านมั่นคง) ริมบึงมักกะสันแทนรูปแบบแนวสูงเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป ซึ่งในระหว่างนี้ได้ดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราวและเข้าอยู่อาศัยแล้ว จำนวน 16 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างดำเนินการระยะที่ 2 จะดำเนินการบรรเทาผลกระทบผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในแนวส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง จำนวน 36 ครัวเรือน คาดว่าจะก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวได้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 นี้

3) กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธิน เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ และพื้นที่บริเวณนิคมรถไฟ กม.11 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ซึ่งจากการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ของ รฟท. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ได้พิจารณาเกี่ยวกับพื้นที่ที่ชุมชนเสนอ(ริมทางรถไฟฟ้าสายใต้ใกล้ชุมชนโชติวัฒน์ เขตบางซื่อ) อยู่ในพื้นที่ออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายใต้ จึงต้องพิจารณาพื้นที่รองรับในพื้นที่อื่นร่วมกันใหม่ต่อไป

4) กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ชุมชนฯ ประสงค์ขอเช่าที่ดิน รฟท. จำนวน 2 แปลง ดังนี้ (1) พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟสำราญ จังหวัดขอนแก่น ชุมชนหนองแวงตราชู (ใหม่) พอช. มีหนังสือขอเช่าต่อ รฟท. แล้ว และ รฟท. ได้ประสาน อบต.ศิลา ในการใช้สิทธิเหนือพื้นดินเพื่อก่อสร้างถนนเข้าชุมชนแล้ว (2) พื้นที่บริเวณย่านสถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่เช่า แปลง R5 (โครงการ TOD ขอนแก่น) พอช.ได้เสนอรายชื่อสมาชิก และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเช่าเป็น 30 ปี คาดว่าจะดำเนินการอนุมัติให้เช่าทั้ง 2 แปลง ภายในเดือนมีนาคม 2566

5) กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี -หาดใหญ่ – สงขลา โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่ – สงขลา คาดว่าจะดำเนินการในปี 2567 – 2568 (หลังจากดำเนินการทบทวนแบบแปลนก่อสร้างแล้วเสร็จ) ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลและเจรจากับชุมชนที่บุกรุกในพื้นที่บ้านบางดาน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

6) กรณีการขอเช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนโรงปูนตะวันออก กรุงเทพฯ จากการประชุมคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการ รฟท. (MC) พิจารณาว่าควรนำนโยบายของกระทรวงคมนาคมมาใช้ในการพัฒนาที่พักอาศัยในแนวสูง พอช. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในแนวราบตามความประสงค์ของชุมชนฯ เพื่อ รฟท. นำเสนอ MC พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาต่อไป

7) กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงชุมทางตลิ่งชัน – ศิริราช กรุงเทพฯ (บางระมาด และพุทธมณฑลสาย 2) พื้นที่บางระมาดที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภครถไฟสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช) ต้องปรับลดพื้นที่เช่าบางส่วน ได้ตรวจสอบพื้นที่ และอยู่ระหว่างจัดทำแผนผัง เพื่อคำนวณปรับลดพื้นที่เช่า และสำหรับพื้นที่พิพาท (เช่าเปิดทางเข้า – ออก) ได้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมกัน โดยมีมติให้ใช้พื้นที่เข้า – ออกร่วมกัน 4 เมตร โดยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ได้ลงพื้นที่และทำบันทึกตรวจร่วมทางเข้า- ออก เพื่อไปแถลงต่อศาล ปัจจุบันได้ส่งข้อมูลประกอบการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลต่อไป ส่วนพื้นที่พุทธมณฑลสาย 2 ได้ตรวจสอบพื้นที่เพื่อปรับลดค่าเช่าย้อนหลังนับตั้งแต่มีคดีพิพาท (ทายาทเจ้าของที่ดินเดิม) อยู่ระหว่างการคำนวณพื้นที่ปรับลด เพื่อเสนอปรับลดค่าเช่าต่อไป

8) กรณีการคิดอัตราค่าเช่าใหม่ให้เป็นไปตามอัตราค่าเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยของชุมชนพระราม 6 เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ จะดำเนินการเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาภายหลังการอนุมัติหลักการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท. ทั่วประเทศต่อไป

9) กรณีการแก้ปัญหาพื้นที่เช่าชุมชนตลาดบ่อบัว จังหวัดฉะเชิงเทรา รฟท.ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกในพื้นที่แล้ว จำนวน 25 ราย อยู่ระหว่างการบังคับคดี 24 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 1 ราย ในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ รฟท.ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ผู้แทน ขปส. แจ้งว่ากลุ่ม ผู้บุกรุกดังกล่าวได้เข้ามาเจรจากับชุมชนฯ แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงด้วย แต่เนื่องจากมีพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ ได้ประสานให้ พอช. จัดหาที่ดินของหน่วยงานอื่นหรือเอกชนรองรับต่อไป

10) กรณีการแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินของ รฟท. พื้นที่จังหวัดตรัง พอช. ได้ทำหนังสือแจ้งรายชื่อชุมชน และสมาชิกประกอบการขอเช่าที่ดินจำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองมวน ชุมชนควนดินแดง ชุมชนทางล้อ และชุมชนลำภูรา (ชายเขาใหม่พัฒนา) อยู่ระหว่างการขออนุมัติให้เช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566

11) กรณีการแก้ไขปัญหาพื้นที่เช่าชุมชนรถไฟสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาเกี่ยวกับการค้างชำระค่าเช่าของ พอช. (สมาชิกชุมชนฯ) อยู่ระหว่าง รฟท. ดำเนินคดีแพ่ง และ พอช.ได้ดำเนินคดีกับสมาชิก ที่ไม่ชำระค่าเช่าเช่นกัน โดยมี รฟท. เป็นโจทก์ร่วม สำหรับการขอเช่าใหม่เพื่อทำโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 26 ครัวเรือน จากเดิม 73 ครัวเรือน ซึ่ง พอช. ทำการวางผังเพื่อขอเช่าฯ แล้วเสร็จ ทั้งนี้ พอช. และ รฟท. จะได้หารือกันในระดับนโยบาย และรับผลพิจารณาทางกฎหมายประกอบการขอเช่า/ให้เช่าต่อไปด้วย

12) กรณีการดำเนินการทางกฎหมายกับสมาชิกที่ไม่ชำระค่าเช่า หลังจากคณะทำงานย่อยฯ ของ รฟท. ผู้แทนชุมชน และ พอช. ลงพื้นที่ชุมชนนำร่อง เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ค้างค่าเช่าให้ชำระค่าเช่าแล้ว ให้เครือข่ายผู้แทนชุมชนเผยแพร่ข้อมูลต่อชุมชนอื่น ๆ ที่มีรูปแบบเดียวกันแล้ว พอช. ได้ดำเนินคดีกับสมาชิกที่ค้างชำระค่าเช่า โดยมี รฟท. เป็นโจทก์ร่วม ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนนำเงินค่าเช่าที่ค้างชำระมาทยอยจ่ายให้ พอช.

13) กรณีการขอคืนพื้นที่เช่าในส่วนที่เป็นถนนสาธารณะประโยชน์ และในส่วนที่ชุมชนไม่ประสงค์จะขอเช่าพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่าง พอช.และชุมชนสำรวจข้อมูล จัดทำแผนผัง เพื่อเสนอต่อ รฟท. ปรับลดพื้นที่เช่า และค่าเช่า

2. การดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการดำเนินโครงการของกรมทางหลวง จำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ กรณีโครงการก่อสร้างสะพานรถยนต์ โครงการระบายน้ำแม่น้ำตรัง ตำบลบางรัก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ทล. ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดตรังแล้วว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 103 ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งหนองเป็ด และเป็นการครอบครองภายหลังจากการเป็นที่ดินของรัฐ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ทล. จึงจำเป็นจะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ราษฎร ซึ่งจังหวัดตรังได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือฯ แล้วนั้น ปัจจุบัน ทล. ได้แจ้งราษฎรทำสัญญารับเงินช่วยเหลือจำนวน 12 ราย ทำสัญญาแล้ว 4 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนของศาล 2 ราย ส่วนอีก 6 ราย อยู่ระหว่างการเจรจา

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมภิบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป

Written By
More from pp
คนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง เศรษฐกิจไทยแข็งแรง ! “อนุทิน” อวยพรปีใหม่ 2566 ขอประชาชนเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ย้ำ สธ.พร้อมสนับสนุนเต็มที่
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้พรปีใหม่ กับประชาชนคนไทย...
Read More
0 replies on ““ศักดิ์สยาม” เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2566”