พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์
สัปดาห์ที่ผ่านมา (25 กุมภาพันธ์ 2566) ภาครัฐประกอบด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ตำรวจภาค 2 ทหารเรือ กรมศุลกากร ร่วมมือกันภายใต้โครงการท่าเรือสีขาว ดำเนินการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ต้องสงสัยตกค้างนานนับปีมากกว่า 1,000 ตู้ ตามสัญญาเป็นล็อตแรก มีทั้งตู้คอนเทนเนอร์เก็บความเย็น ตู้สินค้าแห้งและตู้สินค้าอันตราย ซึ่งสินค้าภายในตู้อาจเป็นสินค้าหลีกเลี่ยงภาษี สิ่งผิดกฎหมาย นับเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ ที่สังคมควรรับรู้และมีส่วนร่วมตรวจสอบความโปรงใส่การทำงานของภาครัฐ
การตรวจสอบล็อตแรกเป็นการสุ่มตรวจที่เป็นแค่ “น้ำจิ้ม” เปิด 5 ตู้ จาก 331 ตู้ ทั้งตู้คอนเทนเนอร์เก็บความเย็น ตู้สินค้าแห้งและตู้สินค้าอันตราย พบสินค้าผิดกฎหมายประกอบด้วยเนื้อสุกรแช่แข็ง 3 ตู้ จำนวน 90,000 กิโลกรัม เม็ดพลาสติก 1 ตู้ ปุ๋ย 1 ตู้
หากมองผลกระทบจากตู้สินค้าที่ถูกเปิด หมูเถื่อน 3 ตู้ มีผลมากที่สุดเพราะปริมาณมากที่สุด เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขณะนี้ “น้ำตาตกใน” ขาดทุนสาหัสจากราคาสุกรหน้าฟาร์มและราคาเนื้อหมูตกต่ำรวดเร็วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหน้าฟาร์มจาก 110-115 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียง 80 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนหมูเนื้อแดงในตลาดสดจากที่เคย 200 บาทต่อกิโลกรัม เหลือประมาณ 180-185 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เพราะต้นทุนการเลี้ยงหมูอยู่ที่ 95 บาทต่อกิโลกรัม
โดยเฉพาะประเด็นด้านปศุสัตว์ที่มีตู้คอนเทนเนอร์เก็บความเย็นเป็นตัวประกัน มีข้อสงสัยมาโดยตลอดว่าจะเป็นที่ซุกซ่อนของหมูเถื่อน และไม่เคยตรวจสอบพบหน้าท่าเรือแหลมฉบังเช่นครั้งนี้
ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมศุลกากร ชี้แจงว่าหมูเถื่อนที่จับกุมได้นอกท่าเรือนั้น เป็นการสำแดงเท็จซุกซ่อนปะปนมากับอาหารทะเลแช่แข็ง หรืออาหารแช่แข็งประเภทอื่น ทำให้กรมฯ ตรวจสอบไม่พบหมูเถื่อน…เป็นเรื่องน่าแปลกที่ผ่านการตรวจจากท่าเรือ แต่ออกมาด้านนอกถูกจับกุมได้ทันที
1 ปี ที่ผ่านมา ทั้งผู้เลี้ยงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุกรไทย ช่วยชี้เป้าพื้นที่ซุกซ่อนและช่องทางหลักในการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน คือ ท่าเรือแหลมฉบังและห้องเย็นในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เป็นสถานที่พักรอกระจายหมูเถื่อน ที่ของกลางจำนวนมากถูกจับกุมอยู่ระหว่างดำเนินคดีกับเจ้าของสินค้า
เป้าหมายสำคัญ คือ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ไม่ให้มีการนำเข้าเด็ดขาด เพราะผลกระทบของหมูเถื่อนที่ทะลักเข้าไทยเวลานี้ คือ ทุบราคาหมูไทยให้ตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รายย่อย-รายเล็กต้องเริ่มปิดฟาร์มเพราะทนต่อการขาดทุนไม่ไหว และราคามีแนวโน้มหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มจะลงไปแตะ 70 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับโครงการท่าเรือสีขาว ขอตั้งข้อสังเกตสำหรับการทำงานของกรมศุลกากร ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และรับผิดชอบเรื่องสินค้านำเข้ามาในราชอาณาจักร 2-3 คำถาม คือ 1.เหตุใดจึงปล่อยให้มีตู้สินค้าต้องสงสัยตกค้างนานนับปีมากกว่า 1,000 ตู้
2.ด้วยอำนาจตามกฎหมายของกรมฯ สามารถทำการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วเพื่อผลักดันตู้สินค้าอันตราย หรือสินค้าผิดกฎหมายกลับไปยังประเทศต้นทางของสินค้า และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด เหตุใดจึงปล่อยปละละเลย และ 3. สินค้าอันตรายและสินค้าเลี่ยงภาษีเหล่านี้ ให้ประโยชน์อะไรกับกรมฯ หรือประเทศชาติบ้าง จึงให้ที่พักพิงในไทยยาวนาน
เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากร มีข้อชี้แจงออกมาว่า ภาคเอกชนเจ้าของตู้ตกค้างบางราย ยื่นขอขยายเวลาเพื่อส่งกลับประเทศต้นทาง บางตู้ตกค้างวางอยู่นานนับปี โดยไม่ได้ขยับหรือผ่านขั้นตอนใดๆ อ้างว่าอยู่ในขั้นตอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงานต้องทำการตรวจสอบ ตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน…
น่าแปลก!! ทำไมผู้เกี่ยวข้องไม่แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้าดำเนินการตามกฎหมาย มีระเบียบข้อใดห้ามกรมศุลกากรแจ้งความเอาผิดกับผู้กระทำผิดหรือไม่
การตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ค้างท่าเรือฯ ครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ความโปร่งใสการทำงานของภาครัฐโดยเฉพาะกรมศุลกากร จึงต้องเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงและผู้เกี่ยวข้องมาเป็นสักขีพยาน และเปิดโอกาสให้สุ่มตรวจทั้งตู้เย็นและตู้แห้งตามความความใจ แบบไม่จัดฉากสัก 3-5 ตู้ ให้เห็นว่าไม่มีอะไรแอบแฝง อย่าทำพอเป็นพิธีหรือมุบมิบทำ
หวังว่าการตรวจสอบครั้งนี้จะไม่มีอะไรซุกไว้ใต้พรม เหมือนการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่นที่ผ่านมา ตามปรัชญาที่ว่า “ข้าราชการ คือข้าของแผ่นดิน”