เชียงรายร่วมใจ จัดมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ถอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอาจารย์สอนคนในชุมชน

25 กุมภาพันธ์ 2566 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรม “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ)” ณ ห้องประชุมประดู่แดง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวต้อนรับและกล่าวบรรยายวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้

โดยในงานดังกล่าวยังมีผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง และฝ่ายจังหวัดเชียงรายร่วมในงาน อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

งานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” จัดขึ้นเพื่อนำเสนอรูปแบบความสำเร็จของมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่สู่สาธารณะ และนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและสำนึกท้องถิ่น โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงผลงานวิจัย ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือ ที่ได้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท.

มีนิทรรศการและการจัดจำหน่ายสินค้าและการแสดงทางวัฒนธรรม ที่น่าสนใจ อาทิ ฟ้อนกลองอืด/ กลองปูจา ช่อแฮ ศรีเมือง การขับทุ้มหลวงพระบาง การแสดงร้อยเรื่องราวชนเผ่าม้ง ช้านางเหลียว, เสือไหหลำ ฟ้อนนกฟ้อนโต แฟชั่นฟื้นใจ๋เมือง:ไม่เป็นอื่นด้วยฟื้นตัวตน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวในงานนึ้ว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและคนทั่วโลกต้องการเดินทางไปเยือนประเทศไทย เช่น คนจีนรุ่นใหม่ที่เดินทางมาเองโดยไม่มากับทัวร์ท่องเที่ยวแล้วเข้าไปท่องเที่ยวตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ

จึงจำเป็นที่แต่ละพื้นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานโดยอาศัยการวิจัยดังกล่าว อีกทั้งคนไทยยังเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ กีฬา บันเทิง โดยเฉพาะในเรื่องของศิลปะ สุนทรียะ และอารยธรรม ซึ่งอยู่ใน DNA ของคนไทย เราจึงต้องเน้นย้ำในจุดนี้เพื่อเปลี่ยน Mindset ของคนไทย

เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ขายได้และเพิ่มมูลค่า มหาวิทยาลัยต้องสนใจปัญหานี้ให้มากขึ้น ต้องไปทำวิจัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพราะการวิจัยจะทำให้เราคิดอะไรได้หลากหลายยิ่งขึ้น และต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์แบบนักบริหารด้วย เช่น ประเทศเรามีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง ให้นำมาทำหลักสูตร ไม่จำเป็นต้องเป็นระดับปริญญาเสมอไป ถอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มาเป็นอาจารย์สอนคนในชุมชน

กระทรวง อว. ก็ต้องทำการวิจัยทดลองที่ไม่ใช้แค่ในห้องแลป เช่น งานฟื้นใจเมือง ทุกคนเป็นนักวิจัยได้ อะไรที่ดีก็ทำต่อยอดไป และเราต้องไปร่วมมือกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในแนวหน้าของโลก เช่น อิสราเอล จีน นำจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว อาหารของเรามาดึงดูดนักวิจัยต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงดึงเรื่องวิทยาศาสตร์ให้พัฒนาสูงขึ้นด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า นับเป็นมิติใหม่ที่มีการส่งเสริมทุนทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเคยมีอยู่อย่างหลากหลายแต่ที่ผ่านมาบางอย่างถูกละทิ้งและบางอย่างได้สูญหายไป ดังนั้นการกระตุ้นเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในยุคปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก โดยทาง มฟล. รับเป็นเจ้าภาพโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาในการจัดงานครั้งนี้และน่ายินดีที่ทางกระทรวง อว.ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่างานฟื้นใจเมืองนี้จะเป็นพื้นที่ให้ทุกหน่วยงานมาร่วมทำงานด้านวัฒนธรรมกันอย่างเข้มแข็ง ผลงานที่มี่ออกมาจะต้องชัดเจนและจับต้องได้ ทางมหาวิทยาลัยก็ได้จัดทำหลักสูตร Master Class เป็นหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในรูปแบบศาสนาและศิลปะขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริม ให้แก่ผู้ที่มีความสนใจศึกษาด้านพุทธศิลปกรรม

โดยเน้นให้สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุนทรียศาสตร์ทั้งทฤษฎีและสามารถปฏิบัติ นำหลักการมาปรับใช้ในด้านการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนทางด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ตอนนี้มี 40 มหาวิทยาลัย ใน 60 จังหวัด และมีผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย ที่มาร่วมกันสร้างพื้นที่ย่านวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดคุณค่า มูลค่า แรงบันดาลใจ ทำให้งานทั้งวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดรายได้ จับต้องได้และกินได้ ให้ประชาชนเกิดความรักบ้าน รักเมือง และรักรากเหง้าของตนเอง

Written By
More from pp
รวมสุดยอดศาสตร์พยากรณ์การกุศล ระหว่างวันที่ 16-23 กุมภาพันธ์นี้ ณ สยามพารากอน
มูลนิธิสิริวัฒนาเชสเชียร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงาน รวมที่สุดของศาสตร์พยากรณ์แห่งปี “สิริวัฒนาพยากรณ์ เพื่อคนพิการ” พบสุดยอดนักพยากรณ์ชั้นนำผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การทำนายหลากหลายแขนง จากทีมสิริวัฒนาพยากรณ์​ มาร่วมตรวจดวงชะตา ชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับผู้ที่สนใจ...
Read More
0 replies on “เชียงรายร่วมใจ จัดมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ถอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอาจารย์สอนคนในชุมชน”