20 มกราคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้พบกับนาย Nigel Huddleston รมช.การค้าระหว่างประเทศ (Minister for International Trade) แห่งสหราชอาณาจักร เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ
การพบหารือมีขึ้น ณ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศ Department for International Trade (DIT) กรุงลอนดอน ครั้งนี้ มีคณะผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วม อาทิ นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้หารือในประเด็นการค้าที่ขณะนี้สหราชอาณาจักรถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ในยุโรปสำหรับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้มูลค่าทั้งการนำเข้าและส่งออกระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้น ผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดทั้งระดับรัฐบาลผ่าน คณะกรรมการร่วมเศรษฐกิจและการค้าไทย-สหราชอาณาจักร หรือ Thailand-UK Joint Economic and Trade Committee (JETCO) ตลอดจนความร่วมมือของเอกชนโดยสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร หรือ Thai-UK Business Leadership Council (TUBLC)
“รองนายกฯ อนุทิน ได้เน้นย้ำกับ รมช.การค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักรถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการผลักดันความร่วมมือในทุกระดับเพื่อเพิ่มการค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ และยังมีแผนการตั้ง “Enhanced Trade Partnership” เพื่อเพิ่มการค้าในหลายด้านโดยเฉพาะ การเกษตร บริการทางการเงิน การดูแลสุขภาพ และดิจิทัล ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่ข้อตกลง FTA ไทย-สหราชอาณาจักรซึ่งเป็นวาระสำคัญที่สุดระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศในขณะนี้”น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทินและคณะได้ให้ข้อมูลถึงแผนการฟื้นฟูประเทศหลังการระบาดของโควิด19 ของไทย ที่มีการลงทุนหลายโครงการที่กำลังเปิดให้นักลงทุนทั่วโลกเข้าร่วม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อยกศักยภาพประเทศ และยังได้ย้ำถึงจุดเด่นของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สามารถเป็นประตูไปสู่ตลาดในเอเชียแปซิฟิก และมีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อเพื่อออกไปยังมหาสมุทรอินเดียและเส้นทางการค้าของทั่วโลก โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนนักลงทุนจากสหราชอาณาจักรที่มีความแข็งแกร่งทางอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนใน EEC ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ5G และด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว
ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้ขอให้สหราชอาณาจักรให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัด Specialised Expo ซึ่งประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในชื่อ Expo 2028-Phuket, Thailand ภายใต้ธีม “Future of life : Living in Harmony, Sharing Prosperity” ซึ่งผู้ชนะจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE) ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักรด้วย โดยการลงคะแนนจะมีขึ้นในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ BIE ที่กรุงปารีส ในเดือนมิ.ย. ของปีนี้
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนายอนุทิน และคณะยังได้มีโอกาสชมบรรยากาศโดยรอบห้องประชุมสำหรับการหารือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นห้องทำงานของ ลอร์ดเอกแห่งกระทรวงทหารเรือ (First Lord of the Admiralty) โดยหนึ่งในบุคคลที่เคยใช้ห้องแห่งนี้ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกคือ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเขาเคยใช้ห้องทำงานแห่งนี้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง First Lord of the Admiralty 2 สมัย ในช่วงปี ค.ศ. 1911-1915 และ 1939-1940