จากกรณีข่าวทาง facebook เพจ “ข่าวช่องวัน” ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพและคลิปวิดีโอ เนื้อหาบางส่วนกล่าวว่า ประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา สุดทนร้องสื่อช่วยเป็นกระบอกเสียง หลังเรือภัตตาคารส่งเสียงดังรบกวนการพักอาศัย โดยผู้ร้องระบุว่า “ก่อนจะเกิดวิกฤติ COVID-19 เรือภัตตาคารก็มีแล่นอยู่ปกติ และมีการใช้เสียงผ่านเครื่องขยายเสียงในระดับที่ “พอยอมรับได้”
แต่ภายหลังจากเริ่มกลับมาให้บริการในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ต่างก็พยายามเรียกลูกค้าด้วยการอัดเสียงเพลงหรือโชว์ต่าง ๆ ผ่านเครื่องขยายเสียงเป็นที่รบกวนผู้อยู่อาศัยสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเวลาที่เรือเหล่านี้ออกให้บริการ จะเป็นเวลาช่วง 19.30 – 21.30 น. ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนของประชาชนทั่วไป
และในบางครั้งก็มีเรือเที่ยวพิเศษหรือเรือเช่าเหมาลำ ออกเรือส่งเสียงเพลงดังสนั่นในช่วงหลังเที่ยงคืนก็เคยเจออยู่บ่อยๆ” พร้อมกันนี้ ผู้ร้องเรียนได้มีการแจ้งเรื่องมายังกรมเจ้าท่า โดยกรมเจ้าท่าได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวและได้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยทันที
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย พร้อมด้วยกลุ่มตรวจการเดินเรือ สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ตรวจสอบเรือที่ให้บริการโดยทันที พร้อมสั่งการให้เร่งกวดขันจัดระเบียบการเดินเรือดินเนอร์ ไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำ
ในการนี้ได้สั่งเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ กวดขัน และลงโทษ หากผู้ประกอบการฯไม่ให้ความร่วมมือ พร้อมลงโทษผู้ประกอบการเรือและนายท้ายเรือ ตามกฎหมายขั้นสูงสุด พร้อมกันนี้รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยของเรือดินเนอร์จำนวน 3 ลำ และสั่งการให้แก้ไขไฟบนดาดฟ้าเรือในส่วนที่อาจส่งผลกระทบหรือเป็นอันตรายแก่การเดินเรือของเรือลำอื่นที่สัญจรและสั่งเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรการดังนี้
1.ให้ลดการใช้เสียงบนดาดฟ้าเรือให้เบาลง ไม่กระทบหรือรบกวนหรือก่อความรำคาญกับประชาชนและผู้พักอาศัยริมฝั่งแม่น้ำ
2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจอุปกรณ์ความปลอดภัย เสื้อชูชีพ รวมถึงอุปกรณ์ดับเพลิงประจำเรือภัตตาคารทุกลำ ให้เพียงพอและพร้อมใช้งาน
3 .กำหนดให้ผู้ควบคุมเรือดูแลรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ บนเรือให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และลดมลพิษทางเสียงที่อาจเกิดขึ้น และทำการเปรียบเทียบปรับนายช่างกลเรือที่ไม่มีประกาศนียบัตรไว้บนเรือ
4. ประชุมซักซ้อมความเข้าใจ พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต และตำรวจในพื้นที่ ร่วมกันตรวจตรา ควบคุม ปราบปรามการใช้เสียงให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
5. สร้างความรับรู้ให้แก่ผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงผลกระทบทางเสียงและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนร่วมกัน
พร้อมกันนี้ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า จะดำเนินการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการเรือดินเนอร์และเรือเช่านำเที่ยวเหมาลำ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร มาประชุมร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นเพื่อให้การประกอบธุรกิจ สามารถดำเนินไปได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และไม่ผิดกฎหมาย
และขอความร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย ตรวจความพร้อมของอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยบริเวณเรือ เช่น เสื้อชูชีพ อุปกรณ์ดับเพลิง ต้องอยู่ในจุดที่สามารถใช้งานได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมสั่งการให้ ยกเลิกการใช้บอร์ดชูชีพ โดยต้องเปลี่ยนเป็นเสื้อชูชีพทั้งหมด และตรวจเช็คความพร้อมของถังดับเพลิง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้งาน
หากประชาชนท่านใดพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยทางน้ำ และได้รับความเดือดร้อน โทรสายด่วนอธิบดี กรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง