ผักกาดหอม
ก็แปลกดี…
เลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ สนามเลือกตั้งที่ดูแล้วดุเดือดที่สุด เป็นพื้นที่ภาคใต้ซะงั้น
แต่ไหนแต่ไรสนามเลือกตั้ง กทม. อีสาน ภาคกลาง แข่งกันดุเดือด
ส่วนภาคใต้เงียบกริ๊บ
ก็จะไม่เงียบได้ไง ส่งเสาไฟฟ้าลงยังชนะเลือกตั้ง
ที่มาของส.ส.ชื่อ “เสาไฟฟ้า” ตามที่มีได้ยินกันจริงๆ เป็นยุคที่ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ออกจากประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรคดำรงไทย สู้กับพรรคประชาธิปัตย์
การเลือกตั้งปี ๒๕๓๘ พื้นที่เลือกตั้งจังหวัดพัทลุง ถูกจับตามองอย่างมากว่า วีระกานต์ มุสิกพงศ์ สมัยนั้นยังใช้ชื่อ “วีระ” จะเจาะประชาธิปัตย์เข้าหรือไม่
เพราะคาถาหลวงพ่อชวน “สี่เลนนะ” “วีระ” ถึงกับต้องยกธงขาว
“ผมสู้เสาไฟฟ้าและหลักกิโลฯ ไม่ได้จริงๆ ครับพี่น้อง”
ก็เป็นโจ๊กการเมืองที่แซวกันสมัยนั้น
เรื่องคือ นายหัวชวน ไปหาเสียงในวัดแล้วคุยกับหลวงพ่ออยู่พักใหญ่
คุยเสร็จนักข่าวถามว่า พลวงพ่อ ให้พรว่าอะไร
นายหัวชวน ตอบทันที่ “สีเลนะ-สี่เลนนะ”
“สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย”
สาธุๆ
หลวงพ่อขอถนน ๔ เลนลงภาคใต้
ผลเลือกตั้งปีนั้น ประชาธิปัตย์กวาดไปเกือบเกลี้ยง
เก้าอี้ส.ส.ภาคใต้มี ๕๑ ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ฟาดไปถึง ๔๖ คน
เหลือให้พรรคความหวังใหม่ของพ่อใหญ่จิ๋ว ๕ ที่นั่ง เกือบทั้งหมดเป็นส.ส.กลุ่มวาดะห์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย เด่น โต๊ะมีนา กับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ปรากฎการณ์เสาไฟฟ้า ยังถูกนำมาร้อยเรียบโดย “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ที่วันนี้กลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองพเนจร
ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๖๒ “นิพิฏฐ์” โพสต์เฟซบุ๊กเอาไว้ว่า
“…๒๐ กว่าปีที่แล้ว คุณป้าว่อน แดงทองใส ชาวบ้านหมู่ ๘ บ้านปากเหมือง ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง คือผู้ที่ตะโกนขึ้นหน้าเวทีที่ผมกำลังปราศรัยและพูดขึ้นว่า “แม้ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าเราก็จะเลือก”
บัดนี้ ล่วงเลยเวลามา ๒๐ กว่าปีแล้ว คุณป้าว่อน แดงทองใส ยังคงเกาะติดหน้าเวทีปราศรัยของผมอย่างเหนียวแน่น
นี่คือ ความผูกพัน ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้ สามีของท่าน และลูกของท่านเสียชีวิตจากไปแล้ว
ผมก็ได้มีโอกาสดูแล รับใช้ ในการจัดงานศพ เหมือนครอบครัวเดียวกัน บุญคุณที่ประชาชนเลือกโดยเราไม่ต้องซื้อเสียง เป็นสิ่งที่ต้องตอบแทนกันตลอดชีวิต…”
ครับ…นั่นคืออดีตสนามเลือกตั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้
มาคราวนี้ดูเหมือนว่าสนามเลือกตั้งในภาคใต้ มีการแข่งขันกันดุเดือดกว่าการเลือกตั้งหลายๆครั้งที่ที่ผ่านมา
สาเหตุมาจากอะไร
หลักๆ หนีไม่พ้นความอ่อนแอของพรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
ปรากฎการณ์เสาไฟฟ้า เป็นเพียงอดีตไปเสียแล้ว
หากดูผลการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ ส.ส.เขตในภาคใต้เพียง ๒๒ ที่นั่ง จาก ๕๐ ที่นั่ง เท่านั้น
ถือว่าค่อนข้างล้มเหลวหากเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ
ส่วนอีก ๒๘ ที่นั่งนั้นกลายเป็นของพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชาติ และพรรคภูมิใจไทย
ฉะนั้นการเลือกตั้งปีหน้าทุกพรรคการเมืองจึงตั้งเป้าเจาะสนามเลือกตั้งภาคใต้
เพราะมองเห็นโอกาส
ขณะที่ประชาธิปัตย์จะไปเจาะพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
มาสำรวจกันอีกที การเลือกตั้งปีหน้า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเขตเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ จากเดิมรวมทั้งประเทศ ๓๘๐ เขตเลือกตั้ง มาเป็น ๔๐๐ เขตเลือกตั้ง
ซึ่งก็คือส.ส.เขต ๔๐๐ คน
แบ่งเป็น
ภาคเหนือ ส.ส.รวม ๓๙ คน จากเดิม๓๓ คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส.ส.รวม ๑๓๒ คน เดิม ๑๑๖ คน
ภาคกลาง ส.ส. รวม ๑๒๒ คน เดิม ๑๐๖ คน
ภาคตะวันออก ส.ส. รวม ๒๙ คน เดิม ๒๖ คน
ภาคตะวันตก ส.ส. รวม ๒๐ คน เดิม ๑๙ คน
ภาคใต้ ส.ส. รวม ๕๘ คน เดิม ๕๐ คน
จะเห็นได้ว่าจำนวนที่นั่งส.ส.ในภาคใต้นั้นอยู่ระดับกลางๆ
ต่างกับอีสานที่มีมากถึง ๑๓๒ คน พรรคเพื่อไทยถึงได้มั่นใจว่าแลนด์สไลด์ เพราะอีสานคือพื้นที่หลักของพรรคเพื่อไทย และเลือกตั้งปีหน้ามีแนวโน้มจะได้ส.ส.เขตเป็นกอบเป็นกำอีกครั้ง
แล้วทำไมภาคใต้ถึงมีความสำคัญกับแทบทุกพรรคการเมือง
วันนี้พรรคภูมิใจไทย เพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาชาติ ลงพื้นที่กันอย่างหนักหน่วง
ประชาธิปัตย์ไม่ต่างจากถูกรุม
กับพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันดูจะมีปัญหากันมากเป็นพิเศษ
ร่างพ.ร.บ.กัญชง-กัญชา ก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ที่จะนำไปสู่คะแนนนิยมในการเลือกตั้ง
ก่อนอื่นไปดูส.ส.เขตทั่วประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกเมือวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒
พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. ๑๓๗ เขต
พรรคพลังประชารัฐ ๙๗ เขต
พรรคภูมิใจไทย ๓๙ เขต
พรรคอนาคตใหม่ ๓๐ เขต
พรรคประชาธิปัตย์ ๓๓ เขต
พรรคประชาชาติ ๖ เขต
พรรคชาติไทยพัฒนา ๖ เขต
พรรคชาติพัฒนา ๑ เขต
และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ๑ เขต
ตัวเลขนี้มีความหมาย หากพรรคเพื่อไทยต้องการการันตีในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องได้เสียงส.ส.เพิ่ม
แน่นอนครับขยายภาคอื่นไม่ออกแล้ว นอกจากกทม.กับภาคใต้
เช่นกันหากพรรคภูมิใจไทยที่ดูดส.ส.เข้าพรรคร่วมครึ่งร้อยแล้ว ก็ต้องขยายพื้นที่ อย่างน้อยต้องเป็นพรรคลำดับ ๒ ให้ได้
เหนือ อีสานตอนบน เจาะยากแล้ว จะมีก็ภาคกลาง กับภาคใต้ ที่ยังขยับขยายได้
เช่นเดียวกับพลังประชารัฐ เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปทดแทนเพื่อไทยในภาคอีสาน แต่การเข้าไปทดแทนภาคใต้แทนประชาธิปัตย์ดูพอจะมีความหวังกว่า เพราะคราวที่แล้วเจาะกระจุยไปหลายสนาม
เพียงแต่เงื่อนไขของพลังประชารัฐเปลี่ยนไป “ลุงตู่” ย้ายค่ายไป รวมไทยสร้างชาติ ฉะนั้น รวมไทยสร้างชาติจะเป็นอีกพรรคที่ต้องแบ่งเค้กกับพรรคการเมืองอื่นๆ ข้างต้น
สนามเลือกตั้งภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ชี้วัดว่าใครจะได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล
แต่เป็นพื้นที่เพิ่มโอกาสในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
จากสาเหตุหลัก คือ ประชาธิปัตย์มาถึงยุคที่อ่อนแอเป็นประวัติการณ์
ถึงจะอ่อนแอแค่ไหนประชาธิปัตย์ก็กลับมาได้เสมอ
แต่เลือกตั้งครั้งหน้าอาจยังไม่ถึงเวลา