เดรัจฉานคติ “มหาไพรวัลย์”

เปลว สีเงิน

วันนี้ “คุยนอกรอบ” นิดนุง
ใครจะอ่าน-ไม่อ่าน ไม่ว่ากัน ขึ้นอยู่กับจริตแต่ละท่านละกัน!
คือเมื่อวาน (๕ กพ.๖๔) เว็บไทยโพสต์ นำที่ “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” โพสต์เฟซบุ๊กมาลง
ผมอ่านแล้ว นั่นเป็นเจตคติของพระอย่างมหาไพรวัลย์
แต่ทีนี้ อยากคุยตามประสาคฤหัสถ์-ญาติโยมบ้าง คงไม่เป็นไรกระมัง?

ก่อนคุย ไปอ่านตามโพสต์ของพระมหาไพรวัลย์ก่อน จะได้เข้าใจเรื่อง ท่านโพสต์ ดังนี้

“ในตำนานความเชื่อของพุทธศาสนา พญานาค มันคือสัตว์เดรัจฉานนะ ย้ำว่า มันคือสัตว์เดรัจฉาน แล้วคนพุทธบ้านเมืองนี้มันเป็นอะไรกันนักหนา ถึงพากันไปกราบไหว้บูชาสัตว์เดรัจฉานอยู่ได้
มันช่วยอะไรบ้างพญานาคเนี่ย อาตมาสงสัย

หมาที่บ้านยังมีคุณมากกว่าอีกนะ อันนี้พูดแบบไม่เกรงใจ คืออย่างน้อยหมาก็ช่วยเฝ้าบ้านให้โยมได้นะ
พญานาคมันเฝ้าบ้านให้โยมได้หรือเปล่า ?

ถ้าจะบูชาพญานาค บูชาหมาที่บ้านเถอะ มันซื่อสัตย์ด้วย รักเจ้าของด้วย

มันตลกมาก ที่พระพุทธศาสนาสอนว่า การเกิดเป็นมนุษย์นี่ดีที่สุดแล้ว บำเพ็ญศีล บำเพ็ญทาน จะปฎิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ก็ได้ (สัตว์เดรัจฉานบรรลุธรรมไม่ได้)

โยมรู้ไหม ทั้งเทวดาทั้งพญานาคเนี่ย เวลาเขาบำเพ็ญบุญและอธิษฐาน เขาอธิษฐานเพื่อต้องการที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ทั้งนั้นเลย

เพราะมนุษย์โลกมันเป็นสุคติภูมิของเหล่าเทวดาและสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย
เสียท่ามากนะ ถ้าได้เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีแล้วยังพากันไปกราบไหว้ไปหวาดกลัวอาถรรพ์จากสัตว์เดรัจฉานอยู่”

เนี่ย….
เมื่อพระระดับเปรียญธรรม ๙ ประโยค พูดถึงพญานาคและญาติโยมด้วยถ้อยคำรุนแรง ถึงขึ้นใช้คำว่า

“บูชาพญานาค บูชาหมาที่บ้าน” ดีกว่า หมามีคุณกว่าพญานาค นั้น
ผมคงไม่โต้แย้งพระ แต่ในฐานะชนชาวอุษาคเนย์ ก็พอเข้าใจคติของคนภูมิภาคนี้ ที่เกี่ยวกับพญานาคและศาสนา
ยิ่งโดยเฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างไทยด้วยแล้ว

พญานาคในการรับรู้ของคนไทย ชัดเจนว่าสัมพันธ์ถึง “การตรัสรู้” ของพระพุทธเจ้าโดยตรง!

ผมได้ศึกษา “พุทธประวัติ” อยู่เนืองๆ จึงเข้าใจว่าทำไมคนไทยจึงเคารพนับถือและบูชาพญานาค ทั้งในมิติหยาบและมิติละเอียด

แต่ไม่ว่าในมิติไหน เป็นตายอย่างไร ฆราวาส-ญาติโยม จะไม่ “คิดต่ำ-คิดทราม” นำพญานาคไปเปรียบกับหมาเด็ดขาด

เพราะการรับรู้พญานาคของคนพุทธ เป็นการรับรู้เมื่อครั้งพระพุทธองค์บรรลุ “อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาน” ว่าพญานาค เป็นสัตว์ทรงคุณแรก คู่กับการตรัสรู้ นั้น
พระพุทธรูป “ปางนาคปรก”….

นั่นคือ การสัมผัสรับรู้พญานาคของคนพุทธ ด้วยเคารพสักการะ ลึกระดับ “จิตใต้สำนึก” แห่งองค์คุณ

เล่าแล้วยาว จะนำจากวิกิพีเดีย เขาสรุปกระชับพอดีๆ ขอยกมาพอให้เข้าใจกัน

“มุจลินท์” เป็นพญานาคปรากฏในพุทธประวัติและในพระพุทธรูป “ปางนาคปรก”
โดย “มุจลินทนาคราช” เป็นผู้แผ่พังพานป้อง “พระสมณโคดม” เมื่อเกิดพายุฝนเป็นเวลา ๗ วัน

ขณะ “เสวยวิมุตติสุข” ในสัปดาห์ที่ ๖ หลังการตรัสรู้ ที่ใต้ต้นมุจลินท์ หรือต้นจิก
คือในสัปดาห์ที่ ๖ หลังการตรัสรู้….
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้ “มุจลินท์” ทางทิศบูรพาของไม้มหาโพธิ์

เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้น อีก ๗ วัน
ในกาลนั้น ฝนตกพรำตลอด ๗ วัน พญานาคนามว่า “มุจลินทนาคราช” มีอานุภาพมาก พำนักอยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์นั้น

มีความเลื่อมใส จึงเข้าไปใกล้ ขดขนดรอบองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ รอบ แผ่พังพาน ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว….
พญานาคจึงได้คลายขนด จำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์…ฯลฯ

นี่แหละ “พญานาค” ในจิตสำนึกฆราวาสญาติโยม ที่มหาไพรวัลย์บอก “เป็นสัตว์เดรัจฉาน” กราบไหว้หมาดีกว่ากราบไหว้พญานาค

และถ้าศึกษาพระพุทธประวัติ จะพบว่า พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นพญานาค อย่างน้อย ๓ ครั้ง

มีชาดกครั้งพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญานาคมากมายหลายเรื่อง

จริงอยู่ พญานาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่เดรัจฉานในคติพญานาคของคนพุทธ การกราบไหว้ ไม่เลวร้ายถึงขั้นอย่างที่พระมหาไพรวัลย์จิกกระบาลกระมัง ที่ว่า

“ถ้าจะบูชาพญานาค บูชาหมาที่บ้านเถอะ มันซื่อสัตย์ด้วย รักเจ้าของด้วย”

เปรียบก็เหมือนนายไพรวัลย์ เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง แต่เมื่อบวชเป็นพระ พระในคติคนพุทธ คือพุทธบุตร สืบต่อพระพุทธศาสนา

เพราะอย่างนั้น….
การกราบไหว้พระ แม้จะเป็นพระอย่างมหาไพรวัลย์ก็เถอะ ยังไงๆ ก็ดีกว่า “กราบหมา” แน่นอน จริงไหม พระคุณเจ้า?

พูดถึงพญานาคครั้งพุทธกาลไปแล้ว มาพูดถึงหลัง “กึ่งพุทธกาล” กันบ้าง

“หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” คงไม่มีใครบอกว่า “ไม่รู้จัก”

ในหนังสือ “ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” เรียบเรียงโดย “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”

หลวงตาเรียบเรียงไว้ตอนหนึ่งว่า….
เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าเชิงเขาใหญ่ลูกหนึ่งฝั่งไทย ทางทิศตะวันตกนครหลวงพระบาง ภูเขาลูกนี้อยู่ชายฝั่งแม่น้ำโขง

พระอาจารย์มั่นเล่าว่า……
ที่ใต้เชิงเขาลูกนั้น มีเมืองพญานาคตั้งอยู่ ใหญ่โตมาก หัวหน้าพญานาคพาบริวารมาฟังธรรมของท่านเสมอ และมักมากันมากมายในบางครั้ง

พวกพญานาคไม่ค่อยมีปัญหาซักถามมากเหมือนพวกเทวดา พวกเทวดาทั้งเบื้องต้นและเบื้องล่างมักมีปัญหามากพอๆ กัน หมายถึงปัญหาข้อสงสัยทางธรรมะ
ส่วนความเลื่อมใสในธรรมะนั้น พวกพญานาคและเทวดามีความเลื่อมใสพอๆ กัน

พระอาจารย์มั่นพักบำเพ็ญเพียรอยู่เชิงเขาลูกนั้นนานพอสมควร พวกพญานาคมาเยี่ยมคารวะฟังธรรมกับท่านแทบทุกคืน
พวกพญานาคมาเยี่ยมคารวะท่านไม่ดึกนัก ท่านว่าอาจเป็นเพราะที่พักของท่านสงัดเงียบ ห่างไกลจากหมู่บ้านก็ได้ พวกพญานาคจึงมาเยี่ยมในราว ๔-๕ ทุ่ม

ส่วนสถานที่อื่น ๆ พวกพญานาคมาดึกกว่านี้ก็มี เวลาขนาดนี้ก็มี พวกพญานาคตามสถานที่ต่างๆ มีความเคารพเลื่อมใสท่านมาก

พวกเขาจัดให้บริวารพญานาคมารักษาคุ้มครองป้องกันภัยให้ท่านทั้งกลางวันกลางคืน โดยผลัดเปลี่ยนวาระกันมิได้ขาด
ท่านไปอยู่สถานที่ใดพวกพญานาคในสถานที่นั้นมักอาราธนานิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่นั่นนานๆ เพื่อโปรดพวกเขา

เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พักจำพรรษาอยู่บ้านน้ำเมา อำเภอแม่ปั๋ง เชียงใหม่ พระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านต้อนรับแขกจำพวกกายทิพย์บนสวรรค์มี ท้าวสักกเทวราช เป็นหัวหน้ามาก เป็นพิเศษ

แม้หน้าแล้งท่านจะหลีกเลี่ยงออกไปเที่ยววิเวกองค์เดียว อยู่ในถ้ำดอกคำ ท้าวสักกเทวราชก็พาพวกเทวดาติดตามไปเยี่ยมท่าน

ซึ่งพวกเทวดามาแต่ละครั้งนี้ มากันเป็นหมื่นเป็นแสนและมาบ่อยที่สุด
ถ้าพวกที่ไม่เคยมา ท้าวสักกเทวราชต้องเตือนให้พวกเขาเข้าใจวิธีฟังธรรม ก่อนที่พระอาจารย์มั่นจะแสดงให้ฟัง

โดยมากพระอาจารย์มั่นท่านแสดง “เมตตาอัปปมัญญาพรหมวิหาร” ให้พวกเทวดาฟัง เพราะพวกเทวดาชอบฟังธรรมนี้มากเป็นพิเศษ

พวกเทวดาชอบสถานที่อยู่ลึก ๆ เงียบสงัดห่างไกลจากมนุษย์ เพราะมนุษย์มีกลิ่นเหม็นรุนแรงเหมือนซากศพ เนื่องจากมนุษย์กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์หลายชนิดมาก

ในท้องในกระเพาะมนุษย์ จึงเต็มไปด้วยซากศพสัตว์ชนิดต่างๆ ส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกมา ตามรูขุมขน

แต่มนุษย์ด้วยกันเคยชินกลิ่นของกันและกัน เลยไม่รู้สึกว่าเหม็นเหมือนกลิ่นศพ
ซึ่งผิดกับพวกเทวดามีจมูกพิเศษสัมผัสได้ว่องไวเป็นสภาวะทิพย์ จึงสามารถได้กลิ่นเหม็นเน่าซากศพ โชยออกมาจากร่างมนุษย์ได้เต็มที่
ทำให้สะอิดสะเอียนเหียนรากทนไม่ไหว ไม่ต่างอะไรกับคนเราทนไม่ได้กับกลิ่นซากศพเน่า ๆ ในโลงศพฉะนั้นแหละ

พวกเทวดาทุกคนทุกภูมิเคารพท่านพระอาจารย์มั่นและเคารพสถานที่บำเพ็ญเพียรของท่านมาก

แม้แต่ทางเดินจงกรมที่ญาติโยมชาวบ้านเอาทรายมาเกลี่ยไว้สำหรับให้พระอาจารย์มั่นเดินได้สะดวก พวกเทวดาก็ไม่กล้าผ่านทางจงกรม ต้องเดินอ้อมไปทางหัวจงกรมทุกครั้งที่มาและไป

พวก “พญานาค” ก็เช่นเดียวกัน เวลาเข้ามาเยี่ยมคารวะฟังธรรมกับท่าน พวกพญานาคไม่กล้าเดินเข้าทางจงกรมเลย ต้องเดินอ้อมไปทางอื่น

บางครั้ง พญานาคใช้ให้บริวารมากราบนิมนต์พระอาจารย์มั่นในกิจบางอย่าง ให้ไปโปรดพวกพญานาค คล้ายกับมนุษย์เรามานิมนต์พระไปในงานไม่มีผิดเลย

ครับ…อ่านแล้ว ท่านเลือกเอา
จะกราบสัตว์อย่างพญานาค หรือสัตว์อย่างมหาไพรวัลย์?

Written By
More from plew
“พม่าป่วยเท่ากับไทยป่วย”
เปลว สีเงิน ถ้า “ความกตัญญู” เป็นเมล็ดพันธุ์ดอกไม้แห่งความดีงาม ๑๓ ตุลา.ของทุกปี จะเป็นวันที่ “ดอกไม้แห่งความดีงาม” สะพรึ่บบานถวายพ่อพร้อมกัน เหลืองสะพรั่งไปทั้งแผ่นดิน ดังเช่นปีที่แล้ว...
Read More
3 replies on “เดรัจฉานคติ “มหาไพรวัลย์””
  1. says: Bank Panuwat

    ดันไปเอาเรื่องแต่งที่ไม่มีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมมา มันก็ทำให้หลงเข้าใจผิดแบบนี้แหละครับ

Comments are closed.