ผักกาดหอม
ฟังหูไว้สองหู
ส.ส.พรรคเล็ก “สุรทิน พิจารณ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ บอกว่า คุยกับ “ลุงป้อม” แล้ว กางปฏิทินการเมือง
จะยุบสภาก่อนปีใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
“…พล.อ.ประวิตร ระบุว่าก่อนปีใหม่ ผมเชื่อในคำพูด พล.อ.ประวิตร แต่อำนาจยุบสภานั้นเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นในฐานะคนที่รักกัน แต่เพื่อให้วิถีการเมืองเดินหน้า พล.อ.ประยุทธ์ควรยุบสภาก่อนปีใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งในช่วงกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖…”
หากเป็นไปตามนี้ ก็เหลือไม่กี่วันจะยุบสภาแล้ว!
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๓ บัญญัติว่า หากยุบสภาต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน ๔๕ วัน แต่ไม่เกิน ๖๐ วัน
ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคใหม่ได้ในระยะเวลาไม่เกิน ๓๐ วัน
ไทม์ไลน์คร่าวๆ ยุบปลายเดือนนี้ ต้องเลือกตั้งช้าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์
ส.ส.ต้องย้ายพรรคให้เสร็จสิ้นปลายเดือนมกราคม
จะทำอะไรก็ต้องรีบทำแล้วครับ
ปัญหาใหญ่ที่ยกมาอ้างเพื่อนำไปสู่การยุบสภาขณะนี้คือ สภาล่มบ่อย
ครับ…พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ป่วยการที่จะมีสภาอยู่ต่อไป เพราะ ส.ส.ไม่สนใจสภา ต่างตั้งหน้าตั้งตาลงพื้นที่หาเสียง
ปล่อยสภาร้าง!
ก็ ส.ส.ไม่รับผิดชอบแล้วจะมีสภาไปทำไมกัน
ทุบโต๊ะเอาแบบนี้เลยก็น่าจะดี
จะสมน้ำหน้าไอ้พวกที่กลับเข้าสภาไม่ได้
แต่การเมืองไม่ควรว่าไปตามอารมณ์ครับ เพราะสภาคือหนึ่งในศูนย์กลางอำนาจของประเทศ ถ้าบอกว่ายุบสภาเสีย เนื่องจาก ส.ส.ทิ้งสภาไปแล้ว วันข้างหน้าเราจะพูดกับลูกหลานว่าอย่างไร
เด็กไม่อยากไปเรียน ก็ปิดโรงเรียนไปเสียอย่างนั้นหรือ?
ส.ส.ถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้มีความสามารถ แต่วันนี้ ส.ส.บอกว่า ไม่อยากทำงานในสภาแล้ว เพราะสภาล่มบ่อย ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีควรยุบสภาเสีย ถ้าสร้างบรรทัดฐานลักษณะนี้ขึ้นมา ต่อไปการอบรมสั่งสอนคนรุ่นหลังเรื่องสปิริตในหน้าที่ ในการทำงาน จะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
การยุบสภาเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร เหตุผลในการยุบสภามีร้อยแปดพันเก้า แต่ควรเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุ
ไม่ใช่เพราะ ส.ส.ไม่ยอมทำหน้าที่ แต่ยังรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนอยู่
ฉะนั้น ส.ส.คนไหนไม่ให้ความสำคัญกับสภาแล้ว ก็ควรยื่นใบลาออกเสีย
ออกเยอะๆ มันก็นำไปสู่การยุบสภา
แต่อย่าใช้วิธีรับเงินเดือนฟรี
ครับ…ก็ถือว่าใกล้เลือกตั้งใหม่เต็มทน
เร็วสุดเดือนกุมภาพันธ์
ช้าสุดวันที่ ๗ พฤษภาคม ปีหน้า
บรรดาพรรคการเมืองใช้การตลาดนำเสนอนโยบายประชานิยมเป็นหลัก
ว่ากันตามข้อเท็จจริง พรรคเพื่อไทย ประสบความสำเร็จในการนำเสนอนโยบายมากกว่าพรรคการเมืองอื่น
เป็นที่รับรู้และจดจำมากกว่าพรรคใดๆ
จะรับรู้และจดจำแบบไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ จนถึงวันนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนพูดถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (๒๕๖๖-๒๕๗๐) แม้แต่พรรคเดียว
และดูเหมือนว่าไม่มีพรรคการเมืองไหน คิดนโยบายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจเลย แต่เลือกที่จะชูการตลาดนำนโยบายพรรค เพื่อหวังคะแนนเสียงเป็นหลักเท่านั้น
ดัชนีชี้วัดการพัฒนาตามแผนสภาพัฒน์ หลักๆ มี ๕ ข้อดังนี้
๑.รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ ๙,๓๐๐ ดอลลาร์ หรือประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยปี ๒๕๖๔ รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ ๗,๐๙๗ ดอลลาร์ หรือประมาณ ๒๒๗,๐๐๐ บาท
๒.ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ ๐.๗๒๐๙ โดยปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๐.๖๕๐๑
๓.ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด ๑๐% และต่ำสุด ๔๐% ในประเทศมีค่าต่ำกว่า ๕ เท่า โดยปี ๒๕๖๒ มีค่าเท่ากับ ๕.๖๖ เท่า
๔.ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่า ๒๐% เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี ๒๕๖๑ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลง ๑๖%
๕.ดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มีค่าไม่ต่ำกว่า ๑๐๐
แต่พรรคการเมืองกลับคิดแบบพีระมิดกลับหัว
ขายแต่ประเด็นค่าแรงหรือผลตอบแทน โดยไม่พูดถึงการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ
วันนี้ข่าวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๖๐๐ บาท จะตีกันตายแล้ว
พนักงาน ลูกจ้างบริษัทชอบ แต่เจ้าของบริษัท นายจ้าง บอกจะเอาเงินที่ไหนจ่าย
นักลงทุนต่างชาติก็รีรอแล้ว จะเข้ามาดีหรือเปล่า หรือไป เวียดนาม กัมพูชา เพราะค่าแรงถูกกว่า
หากคิดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบ การชูนโยบายประชานิยมสุดโต่งเช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเสียมากกว่าการแก้ไข
มันคือการชูนโยบายหาเสียงที่ย้อนยุค แต่ยังได้ผล เพราะพรรคการเมืองเห็นจุดอ่อนของประชาชน
แน่นอนครับการเพิ่มรายได้ของประชาชน ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้่น คือส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ
หากเอาค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นตัวตั้งในการยกระดับเศรษฐกิจให้ดีขึ้น อย่าลืมว่า มันมีข้อเสียที่ต้องแลกไปเล่นกัน
เช่นกรณีหลังการขึ้นค่าแรงข้้นต่ำ ๓๐๐ บาทต่อวันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผลที่ตามมาคือ ราคาสินค้าสูงขึ้น การจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีลดลง
เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น
และมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานมากขึ้น
กรณีนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น ๖๐๐ บาทของพรรคเพื่อไทย และอาจหนักหน่วงกว่าเดิมมาก
จะว่าไปแล้วข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล ดูจะสมเหตุสมผล และมีผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า
คือการแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ว่าต้องปรับขึ้นอัตโนมัติและปรับขึ้นทุกปี
โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ คือจีดีพีโตเท่าไหร่ และคำนึงถึงค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อว่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ปัจจัยอะไรเพิ่มขึ้นมากกว่า ก็นำปัจจัยนั้นมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้นในแต่ละปี
แบบนี้จะสะท้อนความเป็นจริงมากกว่า
สมเหตุสมผลสำหรับนายจ้างและลูกจ้างมากกว่า
ปีไหนเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ขึ้น ปีไหนเศรษฐกิจพุ่ง ก็ต้องได้อิ่มทั้งลูกจ้างนายจ้าง
มันจะไม่กดดันเรื่องสินค้าราคาแพง การลงทุน เหมือนการที่พรรคการเมืองเอาค่าแรงขั้นต่ำมาใช้หาเสียง แล้วค่าแรงพุ่งพรวดทีเดียว ๑๐๐%
อย่าคิดเก่า ทำเก่า เพื่อทำลายชาติครับ