9 ธันวาคม 2565 – ส.ส.ภูมิใจไทย ชี้ร่างกฎหมายกัญชาถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้น กมธ. อย่างรัดกุม ไม่ปล่อยกัญชาเสรี หลังพิจารณารอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย
นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย แถลงกรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ว่า
สืบเนื่องจากมี ส.ส. หลายคนยกประเด็นขึ้นมาอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ควรนำร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ขึ้นมาพิจารณา และควรถอนร่างกลับไปทบทวนอีกครั้งนั้น ขอชี้แจงว่ากระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ป็นไปตามขั้นตอนเหมือนร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ ผ่านการรับหลักการจากสภาฯ
มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย ซึ่งได้มีการแปรญัตติ รวมถึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ก่อนจะสรุปเป็นร่างที่สมบูรณ์ โดยแก้ไขเพิ่มเติมรวมเป็น 95 มาตรา และยืนยันว่าร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการฯ นั้น ไม่ใช่การปล่อยให้กัญชาเสรี แต่มีการตรากฎหมายที่ควบคุมการใช้กัญชาให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างครอบคลุม
ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่ใช่นโยบายของพรรคภูมิใจไทยเพียงพรรคเดียว แต่ยังเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ส.ส. หลายคนยังมีข้อสงสัยและข้อห่วงใย โดยในชั้นกรรมาธิการได้นำมาพิจารณาและบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่การออกมาให้ความเห็นในเชิงคัดค้านร่างกฎหมายนั้น อาจเกิดจากการไม่ได้ศึกษากฎหมายเป็นรายมาตราอย่างละเอียด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
โดยส่วนตัวมองว่ากัญชามีทั้งคุณและโทษ ซึ่งต้องยอมรับว่าแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จากวิชาชีพที่ต่างกัน ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลางในการควบคุมการใช้กัญชา ตลอดจนการดำเนินนโยบายต้องมีการประสานงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 นั้น เห็นว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายและความสับสนต่อประชาชน รวมทั้งนักลงทุน จึงขอความร่วมมือ ส.ส. ไม่ใช้เสียงข้างนอกสภาฯ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา อีกทั้งจะทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายล่าช้า
ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการนำเสนอกฎหมาย แต่ยังมีกลไกของ ส.ส. จากทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตลอดจน ส.ว. ในการผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดได้เช่นกัน โดยใช้กลไกของกระบวนการนิติบัญญัติ