“ประสิทธิ์ชัย” ตอก “กนก” ร่างพ.ร.บ.กัญชา พิจารณากันมาดีแล้ว ประชาชน ได้ประโยชน์ ไม่เอื้อกลุ่มทุน ไม่ผูกขาด และ ปกป้อง คุ้มครองเยาวชน แฉ กรรมาธิการ ปชป. โกหกคำโต

จากกรณีที่ศาสตราจารย์ กนก วงศ์ตระหง่าน กมธ.พ.ร.บ.กัญชา พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาวิจารณ์ว่า พ.ร.บ.กัญชา เอื้อนายทุน และไม่รอบคอบในการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ล่าสุด 6 ธันวาคม 2565 ที่เฟซบุ๊ก “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” คณะกรรมาธิการร่างกฎหมายกัญชา กัญชา ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า

ดหมายถึง ศาสตราจารย์ กนก วงศ์ตระหง่าน กมธ.พ.ร.บ.กัญชา พรรคประชาธิปัตย์

ผมต้องเขียนถึงอาจารย์เพราะผมคิดว่าอาจารย์อธิบาย พ.ร.บ.กัญชาไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ในฐานะที่อาจารย์ร่วมเขียนกฎหมายฉบับนี้มาในฐานะกรรมาธิการของพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะพูดกับอาจารย์ทีละประเด็น เพื่อให้สาธารณะพิจารณา

1.อาจารย์บอกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้กลุ่มทุน

ผมเป็นประชาชนที่ลงมือสู้เรื่องกลุ่มทุนมาตลอดเวลา 20 ปีของการทำงาน ตอนที่ผมเป็นกรรมาธิการ ผมจับจ้องเรื่องนี้มากที่สุด และไม่อาจยอมรับได้หากว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มทุน

ผมเรียนย้ำความทรงจำของอาจารย์ว่า ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ประชาชนทุกครัวเรือน วิสาหกิจ สถานพยาบาล เป็น 3 กลุ่มที่ปลูกกัญชาใช้ภายในแต่ห้ามขาย คำถามของผมก็คือ การกำหนดเช่นนี้เอื้อกลุ่มทุนอย่างไรครับ

สำหรับการปลูกเพื่อขาย แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือขนาดเล็กไม่เกิน 5ไร่ ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ สำหรับขนาดเล็กนั้น กมธ. บันทึกเจตนารมย์ว่า ไม่ต้องเสียค่าทำเนียมเพื่ออเอื้ออำนวยกับประชาชนรายย่อย ส่วนการปลูกขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้นต้องขออนุญาต และเสียค่าธรรมเนียม การกำหนดเช่นนี้ เอื้อกลุ่มทุนอย่างไรครับ

ประการต่อมา หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการกำหนดการปลูก จะไม่กำหนดใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะถ้ากำหนดรูปแบบโรงเรือน หรือ วิธีการปลูก เงื่อนไขนี้แหละที่จะเป็นการกีดกันประชาชน เพราะหากรูปแบบโรงเรือนนั้นต้องใช้เงินห้าแสนบาทในการก่อสร้าง ประชาชนก็จะไม่สามารถทำได้ ถ้ามีกติกาแบบนี้จึงจะเรียกว่ากีดกัน แต่มาตรการเหล่านี้ได้อภิปรายกันใน กรรมาธิการ และตัดออกไปแล้ว นี่คือ ตัวอย่างของการทำงานในกรรมาธิการ

ในกระบวนการขายดอกกัญชา ก็กำหนดหลักเกณฑ์ที่ประชาชนทั่วไปปฏิบัติได้โดยพื้นฐานอยู่แล้วในกระบวนการของระบบใบอนุญาต อีกทั้งในกฎหมายฉบับนี้ยังเขียนหลักการสำคัญในหมวด 3 ว่าด้วยระบบการขออนุญาต ซึ่งเป็นกระบวนการทั้งหมดที่จะกำกับกัญชาในประเทศไทย หลักการดังกล่าวคือ ‘กฎกระทรวงต้องไม่มีผลเป็นการกีดกันหรือการผูกขาด ทางการค้า’

ฉะนั้นเวลาอาจารย์บอกว่า พ.ร.บ.นี้จะเอื้อกลุ่มทุนอาจารย์ต้องชี้ประเด็นในร่าง พ.ร.บ.ครับ ไม่ใช่พูดเอาลอยๆ

2.อาจารย์บอกว่า พ.ร.บ.นี้อ่อนแอเรื่อง การปกป้องเยาวชน

ความหมายที่บอกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้อ่อนแอนั้น อะไรคือตัวชี้วัดของความอ่อนแอ? ผมนึกถึงประเด็นหนึ่งคือ หากว่าเราจะเปรียบเทียบว่า มาตรการปกป้องเยาวชนนั้นอ่อนแอ จะต้องไปเปรียบเทียบกับกฎหมายข้างเคียงในการปกป้องเยาวชนในกฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมายสุราและบุรี่ ก่อนเปรียบเทียบมาตรการ อยากให้อาจารย์ดึงสติกลับมาว่า สุรา กัญชา บุหรี่ เมื่อเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว สิ่งไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน แล้วจึงไปดูมาตรการว่า กฎหมายควรคุมกัญชาอย่างไรในประเด็นเด็กและเยาวชน

ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้กำหนดวิธีการขายและสถานที่ในการขาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีร้านขายกัญชาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ยังห้ามการโฆษณา ช่อดอก ยาง สารสกัด เพื่อเป็นมาตรการปกป้องเยาวชน ในหมวดว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดมาตรการไว้แล้วและในหมวดว่าด้วยบทลงโทษ ความผิดต่อเด็กและเยาวชน ถือเป็นโทษหนัก และยังกำหนดว่าการกระทำความผิดใดที่เกิดขึ้น ถ้าความผิดนั้นกระทำต่อเด็กและเยาวชนหรือบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองโทษจะเพิ่มเป็นสองเท่า มาตรการปกป้องเยาวชนไม่ด้อยไปกว่ากฎหมายอื่นแต่เข้มข้นกว่า

สิ่งที่อาจารย์ต้องยอมรับด้วยความไม่ดัดจริต คือ ไม่มีกฎหมายฉบับใดสมบูรณ์แบบ แม้ว่า อาจารย์จะระดม ศาสตราจารย์ด้านต่างๆ สัก 40 คนมาเขียน พ.ร.บ.ผมพนันได้เลยว่าเละกว่าเดิม ฉะนั้นกระบวนการที่ดีที่สุดคือ การใช้นิติศาสตร์คู่กับกระบวนการทางสังคม นั่นคือ การใช้กฎหมาย การประเมินกฎหมาย และการปรับปรุงกฎหมาย ถ้าอาจารย์รอให้มีกฎหมายสมบูรณ์ ผมคิดว่าอาจารย์เลิกรอเถอะครับ สิ่งที่อาจารย์ควรทำคือ ช่วยกันปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในสภาให้รอบคอบแล้วบังคับใช้

3.อาจารย์ระบุว่า เราต้องใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ในการกำหนด

ผมฟังที่อาจารย์พูดในรายการ คมชัดลึก ผมสรุปก่อนเลยว่า คนที่ไม่ใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็คือตัวอาจารย์เองที่มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ มีหลายจุด ผมยกตัวอย่างจุดเดียวคือ กัญชาทำให้เด็กสมองพิการ เอาประโยคนี้พอครับ ผมแนะนำอาจารย์ในฐานะศาสตราจารย์ จากเด็กจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.5 ว่า อาจารย์ต้องอ่านวิจัยอีกหลายชิ้นเกี่ยวกับสมองเด็ก งานวิจัยที่อาจารย์ท่องจำมานั้นมันมีปัญหาเรื่องวิธีวิจัย คือ มันไม่แยกแยะว่าใช้กัญชาธรรมชาติหรือกัญชาสังเคราะห์ และไม่แยกแยะว่าใช้กัญชาร่วมกับอย่างอื่นหรือไม่ ผลมันจึงออกมาแบบนั้น ถ้าอาจารย์จะใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็อ่านหนังสือให้ครบนะครับ มีงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชากับสมองเด็กอีกหลายชิ้นที่ท่านศาสตราจารย์ควรอ่านครับ

ยังมีอีกหลายจุดครับ โดยเฉพาะเวลาอาจารย์พูดเรื่องกัญชากับการแพทย์ ผมเหมือนจะเขียนโต้อาจารย์ทุกคำพูดแต่มันจะยาวไป

4.อาจารย์บอกว่า มันขยายไปหลายมาตรา ต้องไปอ่านรายละเอียดครับ ที่มันเพิ่มไปคือ หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค หมวดการลงโทษ หมวดว่าด้วยระบบใบอนุญาต สามหมวดนี้มีการขยายมากสุดเพราะมันจำเป็นไม่เช่นนั้นมันจะไม่สามารถกำหนดมาตรการได้ครอบคลุม มันแปลกตรงไหนกับการขยายมาตราเพื่อทำให้รอบคอบขึ้น

ผมนั่งฟังอาจารย์แล้ว ความสง่างามของศาสตราจารย์กนก วงศ์ตระหง่าน หายไปจากจิตใจผม เพราะผมชื่นชมอาจารย์มากตอนเป็น กมธ. ยังคุยกับเพื่อนเลยว่า พรรคประชาธิปัตย์มีคนหัวก้าวหน้าแบบนี้ด้วยเหรอ

การพูดของอาจารย์ในรายการนั้นขัดกันเองหลายจุดนะครับ ผมเดาว่าอาจารย์อาจไม่ได้คิดตามที่พูด

ปชป.ไม่เคยทิ้งยี่ห้อตัวเองจริงๆ

Written By
More from pp
รมว.สุชาติ ส่ง เลขาฯ สปส.พบผู้ประกอบการออสเตรเลีย หารือการประกันสังคม มุ่งพัฒนาสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน
4 มีนาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะ เข้าร่วมหารือกับนายอัฐสิทธิ์...
Read More
0 replies on ““ประสิทธิ์ชัย” ตอก “กนก” ร่างพ.ร.บ.กัญชา พิจารณากันมาดีแล้ว ประชาชน ได้ประโยชน์ ไม่เอื้อกลุ่มทุน ไม่ผูกขาด และ ปกป้อง คุ้มครองเยาวชน แฉ กรรมาธิการ ปชป. โกหกคำโต”