‘เอเปก’ ให้อะไร-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มองบวกครับ

การชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ประชุมทุกที่ก็มีม็อบหมด

อาจจะงดบ้าง หากประชุมกันที่ จีน

ม็อบท้องถิ่น ม็อบระดับโลก เขาวางแผนเหมือนกันว่า ประชุมเอเปกแต่ละปี จะเรียกร้องเรื่องอะไร

บางเรื่องบางปีก็น่ารับฟัง แล้วนำไปแก้ปัญหา

แต่บางปีก็ดูเหมือนไม่ค่อยมีที่มาที่ไป

๒-๓ ปีที่ผ่านมางดเพราะโควิด-๑๙ ระบาด

มาปีนี้หนักไปที่ม็อบท้องถิ่น น้องๆ สามนิ้วต้องการแสดงบทบาท เพราะข่าวสารการชุมนุมช่วงเอเปก จะถูกนำเสนอไปทั่วโลก

หากประเด็นคม สมเหตุสมผล โอกาสถูกผลักดันนำไปสู่การปฏิบัติก็มีโอกาสอยู่ไม่น้อย

แต่หากดูแล้วเพ้อเจ้อ สายลมแสงแดด ความสนใจจะอยู่ในระดับต่ำ พร้อมกับการตั้งคำถาม ทำไปเพื่ออะไร

ปีนี้น้องๆ สามนิ้วของเรา มาในนาม “ราษฎรหยุดเอเปก ๒๐๒๒”

แค่ชื่อก็สะท้อนถึงผลลัพธ์แล้ว

คืนวานซืน (๑๖ พฤศจิกายน) น้องมายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำราษฎรหยุดเอเปก ๒๐๒๒ อ่านแถลงการณ์ ๓ ข้อ

๑.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องยกเลิกนโยบาย BCG กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามนำเสนอเข้าที่ประชุมเอเปกรับรอง เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศ

๒.พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่มเอเปก และต้องยุติบทบาทการเป็นประธานในที่ประชุมโดยทันที

๓.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยุบสภา เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันจะทำให้ได้มาซึ่งผู้นำประเทศที่สง่างาม คู่ควรกับการเป็นเจ้าภาพในการประชุมประชาคมโลกในอนาคต

น้องมายด์กำลังบอกว่า ผู้นำ ๒๑ เขตเศรษฐกิจ (๒๐ ประเทศ ๑ เขตเศรษฐกิจ) ถูกหลอกให้มาประชุมเอเปกอย่างนั้นหรือ

ให้ “ลุงตู่” ยุติบทบาท คนที่จะมาทำหน้าที่แทน ก็คงเป็น “ลุงป้อม” จะไหวเหรอ

“ลุงดอน” พอได้ แต่นโยบายก็คงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน

อีกประมาณ ๔ เดือน รัฐบาลจะหมดวาระแล้ว รออีกหน่อย วันที่ ๗ พฤษภาคม ปีหน้าได้เข้าคูหาเลือกตั้งกันแล้ว

อยากจะเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่ก็ว่ากันไป

แต่ตอนนี้หากบอกว่า จะหยุดเอเปก ๒๐๒๒ ต้องช่วยหาทางออกให้ด้วยว่า หยุดแล้วจะเอาไงต่อ

หากความหมายของคำว่า หยุดเอเปก ๒๐๒๒ คือวันนี้พรุ่งนี้ไม่มีแล้ว ล้มเอเปก ไล่แขกกลับบ้าน แล้วทางออกคืออะไร?

และที่อยากถามคือ ทำไมถึงได้เกลียดนโยบาย BCG กันนักหนา

เท้าความกันหน่อย BCG คืออะไร?

BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ ๔ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ

อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์

และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย (Linear Economy)

วิสัยทัศน์ ๑๐ ปีที่วางไว้หลังจากนี้คือ เปลี่ยนข้อได้เปรียบ (Comparative Advantage) ที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก

เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน”

แล้วสำคัญอย่างไร?

BCG เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน้อย ๕ เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างไร?

BCG จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า ๔.๔ ล้านล้านบาท (๒๔% GDP) ใน ๕ ปีข้างหน้า และเกิดการจ้างงาน ๑๖.๕ ล้านคน

Value creation : สร้างความมั่งคั่งและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ประเทศมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ขยายโอกาสทางการค้าในเวทีโลก

มูลค่าเศรษฐกิจ BCG เพิ่มขึ้นจาก ๓.๔ ล้านล้านบาทในปี ๒๕๖๒ เป็น ๔.๔ ล้านล้านบาทในปี ๒๕๖๕

จ้างงานรายได้สูง : สร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรม BCG เกิดตำแหน่งงานรายได้สูง และเพิ่มระดับรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรม BCG

จ้างงานกลุ่ม Highly-skill talents, Innovative entrepreneurs และงานรายได้สูง ๑๐ ล้านตำแหน่ง ภายใน ๑๐ ปี

เกิด Startup และ IDEs ที่เกี่ยวกับ BCG ๑๐,๐๐๐ ราย

ลดความเหลื่อมล้ำ : เพิ่มรายได้ชุมชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดึงเอาศักยภาพพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่

รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ๒๔๐,๐๐๐ บาท/ครัวเรือน/ปี

ดัชนีความมั่นคงทางอาหารไทย Top 5 ของโลกใน ๕ ปี

การเข้าถึงยาชีววัตถุอย่างน้อย ๓๐๐,๐๐๐ คนต่อปี ภายใน ๕ ปี

ความมั่นคงบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ : เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดปริมาณของเสียจากระบบ เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ลดการใช้ทรัพยากรลง ๒ ใน ๓ จากปัจจุบัน

ปริมาณขยะลดลง ๑๖.๕ ล้านตัน

การจัดการท่องเที่ยวและคอนเทนต์ท่องเที่ยวดีที่สุด Top 3 ของเอเชีย-แปซิฟิก

นั่นคือแผนงานที่วางไว้ จะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่การนำไปปฏิบัติว่า จริงจัง เอาใจใส่แค่ไหน และส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลถัดๆ ไป

ถ้าบอกว่าเอื้อเฉพาะกลุ่มทุนชั้นนำ ก็แสดงว่าไม่เข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจประกอบด้วยอะไรบ้าง

ปัจจุบันทุกระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น คอมมิวนิสต์ ทุนนิยม สังคมนิยม แบบผสม แทบจะแยกไม่ออกแล้ว เพราะต้องอาศัยทุนด้วยกันทั้งนั้น

เศรษฐกิจโลกสมัยใหม่ไม่มีทุนก็แทบทำอะไรไม่ได้

ประเภทเพ้อเจ้อทุกคนต้องเท่ากันหมด ในโลกนี้ไม่มีหรอกครับ

นิ้วตีนยังยาวไม่เท่ากันเลย

ถ้าจะบอกว่าไม่เอาทุน ขุดเอาคอมมิวนิสต์โบราณมาใช้ก็ได้ ลงทุนเท่ากัน ลงแรงเท่ากัน แบ่งปันเท่ากัน แต่มันพิสูจน์แล้วว่าไม่มีจริง

ไม่งั้นจีนยังก้มหน้าก้มตาใช้ระบบคอมมูนอยู่

หรือเพราะ BCG สอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่อยากให้ไปต่อ

ครับ…ถ้าอยากให้ประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผู้นำประเทศที่สง่างาม ไม่ยากครับ

แค่เลิกเพ้อเจ้อ

Written By
More from pp
ประสาคนขี้สงสัย-สันต์ สะตอแมน
สันต์ สะตอแมน หนังเจ๊งยับ! นี่..มีคนพูดให้ได้ยิน ถ้าไม่จริงอย่างไรผู้สร้าง-ผู้กำกับฯหนังเรื่อง “ปะ ฉะ ดะ” จะชี้แจงก็ได้นะ เผื่อบางทีจะทำให้ผมเปลี่ยนใจ นึกอยากดูหนังขึ้นมาก็ได้ ซึ่งต้องสารภาพตามตรง...
Read More
0 replies on “‘เอเปก’ ให้อะไร-ผักกาดหอม”