ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักเกินไป อาจเสี่ยงเอ็นอักเสบ

Tennis elbow และ Golfer’s elbow ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นในนักกีฬาเทนนิสและกอล์ฟเท่านั้น แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักเกินไปจนทำให้เอ็นอักเสบ

แพทย์หญิงวิชชุรีย์ เวชชากุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านมือ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า เอ็นอักเสบที่เกิดจากการใช้งานข้อมือและข้อศอกมากและหนักเกินไป แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

เอ็นข้อศอกนักเทนนิส (Tennis elbow) หรือการอักเสบของเส้นเอ็นข้อศอกฝั่งด้านนอกหรือฝั่งนิ้วโป้ง (Lateral epicondylitits) บริเวณปุ่มกระดูกที่เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่กระดกข้อมือขึ้นและเหยียดนิ้วมือ (Extensor group) ซึ่งพบการอักเสบและทำให้เกิดอาการปวดข้อศอกได้บ่อยกว่า

ส่วนใหญ่มักเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis brevis (ECRB) ซึ่งทำหน้าที่กระดกข้อมือ อีกกลุ่ม คือ

เอ็นข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s elbow) หรือการอักเสบของเส้นเอ็นข้อศอกฝั่งด้านในหรือฝั่งนิ้วก้อย (Medial epicondylitis) บริเวณปุ่มกระดูกที่เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่กระดกข้อมือลง คว่ำมือและงอนิ้วมือ (Flexor-pronator group)

“ที่มีชื่อว่าเอ็นข้อศอกนักเทนนิสหรือนักกอล์ฟนั้น เนื่องจากเป็นอาการปวดข้อศอกบริเวณจุดเกาะเอ็นกล้ามเนื้อที่มักพบในนักเทนนิสหรือนักกอล์ฟ หลังจากตีนานๆ ตีแรง ตีโดนพื้น หรือพบในคนที่ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักๆ เกร็งในท่าซ้ำๆ จนทำให้เกิดอาการปวดจากการอักเสบและมีปัญหาในการใช้มือ เช่น การหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น” แพทย์หญิงวิชชุรีย์กล่าว

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค Tennis elbow และ Golfer’s elbow มักมาจากการเหยียดงอข้อศอก สะบัดข้อมือซ้ำ ๆ ช่วงเล่นกีฬา เช่น นักกีฬาเทนนิส/แบดมินตัน การเกร็งข้อมือซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การทำงานบ้าน ทาสี ทำสวน หรือการใช้คีย์บอร์ด ไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังการเล่นกีฬา การสูบบุหรี่และน้ำหนักเกินมาตรฐานเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น โรคนี้พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ในช่วงอายุประมาณ 30-50 ปี

“โรคเอ็นข้อศอกนักเทนนิสและโรคเอ็นข้อศอกนักกอล์ฟจะมีอาการปวดข้อศอกบริเวณปุ่มกระดูกเวลาขยับศอกหรือสะบัดมือ ยกหรือหยิบจับของลำบาก บางรายอาจถือแก้วน้ำหรือขวดน้ำไม่ไหว เหยียดข้อศอกได้ไม่สุด ข้อศอกอักเสบ บวม แดง ร้อน อาจปวดร้าวขึ้นต้นแขนหรือร้าวลงข้อมือ หากปล่อยไว้จนเรื้อรังอาจมีอาการอ่อนแรงของนิ้วมือและข้อมือได้ โดยอาการปวดสามารถหายได้เองภายใน 2-9 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค” แพทย์หญิงวิชชุรีย์กล่าว

สำหรับการวินิจฉัย แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาทบริเวณข้อศอก รวมถึงการตรวจเลือด

ส่วนการรักษาแบ่งออกเป็น 5 วิธี ดังนี้

1.การรักษาเบื้องต้น คือพักการใช้งานข้อศอกและยกข้อศอกสูงเพื่อลดอาการบวม ประคบเย็นบริเวณที่ปวด 15 – 20 นาที วันละ 2 – 4 ครั้ง เพื่อลดการอักเสบ ร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) รวมทั้งหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้มีอาการปวด เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การรักษาได้ผลดี

2.กายภาพบำบัด ควรเริ่มทำหลังพ้นระยะอักเสบเฉียบพลันหรืออาการปวดลดลงแล้ว โดยยืดกล้ามเนื้อข้อมือ ข้อศอก และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ควบคู่กับการประคบอุ่น อัลตราซาวนด์ (Ultrasound therapy) เลเซอร์ (Laser therapy) หรือช็อกเวฟ (Shock wave therapy)

3.ใส่สายรัดข้อศอก (Elbow strap) แนะนำให้ใส่ช่วงที่ต้องใช้งานแขน เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา เพื่อป้องกันการดึงรั้งของเอ็นกล้ามเนื้อและลดแรงที่มากระทำต่อกล้ามเนื้อเวลาใช้งาน

4.ฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง หรือ PRP (Platelet-rich plasma) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบและซ่อมแซมเอ็นที่เสียหาย

5.การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นใน 6-12 เดือน แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดส่วนของเส้นเอ็นที่มีความเสื่อมออก แล้วปรับแต่งเส้นเอ็นไม่ไห้ตึงเกินไป หรือในรายที่มีความเสื่อมมากจนทำให้ข้อศอกไม่มั่นคง แพทย์จะสร้างเส้นเอ็นข้อศอกใหม่ ช่วงหลังผ่าตัดจะใส่เฝือกอ่อนประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากถอดเฝือกจะทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน

แพทย์หญิงวิชชุรีย์ยังกล่าวอีกว่า โรค Tennis elbow และ Golfer’s elbow สามารถป้องกันได้ด้วยการ บริหารกล้ามเนื้อข้อมือและข้อศอกให้แข็งแรงและมีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ ยืดกล้ามเนื้อข้อมือและข้อศอก 5-10 นาที ก่อนการใช้งานหรือเล่นกีฬาทุกครั้ง เลือกอุปกรณ์กีฬาหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานให้เหมาะสม ปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสมกับกิจกรรม หลีกเลี่ยงการใช้งานแขนและข้อมือในท่าเดิมต่อเนื่อง หรือเปลี่ยนท่าและหยุดพักเป็นระยะหากจำเป็นต้องใช้งานนานๆ

Written By
More from pp
Café Amazon เปิดสาขาแรกที่ InterHealth Hospital กรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย ขยายธุรกิจร้าน Café Amazon ในตะวันออกกลาง
นายเบเดอร์ อัลเบเดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการประสานงานนักลงทุน (Deputy Minister of Investors Outreach) นายฟาฮัด อัลนาอีม รัฐมนตรีช่วยว่าการพัฒนาการลงทุน (Deputy...
Read More
0 replies on “ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักเกินไป อาจเสี่ยงเอ็นอักเสบ”