เข้ารกเข้าพงกันไป
เรื่องการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ๙๐ วัน ที่บอกว่าวันที่ ๒๔ ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายให้ย้ายพรรคได้ หากสภาอยู่ครบวาระวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖
นับไปก็ ๙๐ วัน
หากใครไม่ย้ายพรรคภายในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ก็หมดสิทธิ์ย้ายพรรค
ผิดครับ
ผมเองก็ผิดไปกับเขาด้วย
ด้วยความที่ฝ่ายค้าน นักวิชาการ ปั่นกระแส ยุบสภาแน่ๆ วันที่ ๒๔ ธันวาคม เพราะ ส.ส.ย้ายพรรคจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยุบสภา ตื่นเต้นจนลืมไปพลิกรัฐธรรมนูญดูว่า แท้ที่จริงแล้วบัญญัติไว้อย่างไรกันแน่
คุณสมบัติผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะหากไม่มีพรรคการเมืองสังกัดก็ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้
รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา ๙๗ บัญญัติไว้ว่าบุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงสมัคร ส.ส. มีอยู่ ๒ เงื่อนไข ดังนี้
๑.กรณีครบวาระสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
๒.กรณียุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
ความผิดพลาดอยู่ที่ ๙๐ วัน ไม่ได้นับถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรหมดวาระ
แต่นับถึงวันเลือกตั้ง
ทีนี้ไปดูว่า ก่อนนี้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้เป็นวันที่เท่าไหร่
ไทม์ไลน์ที่ กกต.วางไว้คือวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖
ฉะนั้น หากสภาอยู่ครบวาระ ส.ส.ต้องย้ายพรรคก่อนวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
ก็แก้ไขความเข้าใจตรงนี้เสียใหม่
แต่หากมีการยุบสภาก็เป็นอีกกรณี
กรณียุบสภา ส.ส.ทุกคนสามารถย้ายพรรคได้ทันแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนด ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
แต่การจัดการเลือกตั้งกรณียุบสภานั้นต้องมีขึ้นภายใน ๔๕-๖๐ วันนับแต่วันยุบสภา
ฉะนั้นจึงไม่ใช่สาระสำคัญอะไร
เป็นอันว่าปีนี้รัฐบาลประยุทธ์ยังอยู่บริหารประเทศต่อ
หากไม่มีการยุบสภาเสียก่อน ปีหน้าเส้นตายอยู่ที่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ต้องย้ายพรรคกันให้เรียบร้อย
ย้ายพรรคกันแล้วรัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างน้อย ก็ยังมีโอกาสที่รัฐบาลจะลากยาวไปอีกเดือนกว่าจนครบวาระ
ก็อยู่ที่แท็กติกในสภา
ครับ…บรรดาเกจิ อาจารย์ เริ่มวิเคราะห์กันแล้ว ผลเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านจะกลับมาเป็นรัฐบาล
เพื่อไทยจะเป็นพรรคแกนนำ
โพสต์ในเฟซบุ๊กของ “ธนาพล อิ๋วสกุล” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เด็กในคาถาของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ฟันธงเลือกตั้งครั้งหน้า จำนวนรวมพรรคฝ่ายค้านอยู่ที่ ๖๕% เป็นอย่างน้อย
“…คือ ๓๒๕ เสียงจาก ๕๐๐ เสียง
ต่อให้เพื่อไทยได้ ๒๕๐ เสียง
เหลือ ๗๕ เสียงให้แบ่งกัน ก้าวไกลจะอยู่ที่ ๖๐ เสียงเป็นอย่างน้อย
แต่ผมคิดว่าเพื่อไทยจะได้ ๒๒๕ เสียง
ดังนั้นก็จะเหลืออีก ๑๐๐ เสียงให้แบ่งกันในพรรคฝ่ายค้าน ก้าวไกลอาจจะได้ถึง ๘๐ ที่นั่ง
ส่วนพรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันได้ ๑๗๕ ที่นั่ง
เป็นของพรรคภูมิใจไทยประมาณ ๘๐ ที่นั่ง
ประชาธิปัตย์ ๕๐ ที่นั่ง
ชาติไทยพัฒนา ๒๕ ที่นั่ง
ที่เหลือ ๒๕ ที่นั่ง อาจจะมีพลังประชารัฐมาร่วมแจม (ถ้ายังอยู่) รวมไทยสร้างชาติ เป็นต้น…”
ตัวเลขแบบนี้สมาชิกพรรคพลังประชารัฐควันออกหู
จะให้สูญพันธุ์กันเลยหรือ?
มีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ ๑ เหมือนคราวที่แล้ว แต่ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล
หากยึดตามขั้วการเมืองเดิม การได้ ๓๒๕ เสียง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาล เพราะบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ๒๕๐ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกฯ ด้วย
ฉะนั้นกึ่งหนึ่งของ ๒ สภาคือ ๓๗๖ เสียง ยังขาดอีก ๕๐ เสียง
หากสามารถดึง ส.ว.ได้ ๕๐ เสียงก็ตั้งรัฐบาลได้ทันที
แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องแข่งกันตั้งรัฐบาล และต้องใช้เวลานานขึ้น
การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการกําหนดระยะเวลาไว้ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐
ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่รักษาการไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
และรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้นำช่วงเวลาการเป็นนายกฯ รักษาการ ไปบวกกับระยะเวลาในวาระการดำรงตำแหน่ง ๘ ปี
แต่การวิเคราะห์ว่า พรรคพลังประชารัฐจะสูญพันธุ์ ดูจะใช้อคติมากไปหน่อย
นั่งในห้องแอร์แล้วจิ้มเอาแบบนี้ความผิดพลาดจะเยอะ
ส.ส.พลังประชารัฐหลายคนลงพื้นที่เหนียวแน่นจนยากที่จะสอบตก
เช่นเดียวกันกระแสในโซเชียล กับความนิยมในพื้นที่จริง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เอาแบบมักน้อย พลังประชารัฐจะได้ ส.ส. ๖๐ คน
๓๒๕ เสียงที่คาดว่าฝ่ายค้านเดิมจะได้ ก็ลบด้วย ๖๐
ผลคือปริ่มน้ำทั้ง ๒ ฝ่าย
กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ต้องลุ้นกันเหนื่อยทั้ง ๒ ฝ่าย
แต่คู่คี่แบบนี้ฝั่งรัฐบาลเดิมมีภาษีกว่าเพราะ ยังมีพรรค ส.ว. ๒๕๐ เสียงหนุนหลังอยู่
นี่ยังไม่นับเงื่อนไขที่ว่า พรรคเพื่อไทย อาจไม่ตั้งรัฐบาลกับ พรรคก้าวไกล เพราะกลัวพาล่มจากการแก้ ม.๑๑๒
ฉะนั้นสูตรการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง เราอาจได้เห็นสูตรพิสดาร
เพื่อไทย พลังประชารัฐ จับมือเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจเป็นคนละครึ่ง
ส่วนจะใครครึ่งใคร วันนี้แค่คาดเดา การเมืองยังสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
จนกว่าจะเห็นผลการเลือกตั้ง
ผักกาดหอม