“เอเปก” หรือ “เอเปค” เขียนภาษาไทยให้ถูก – รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ

www.plewseengern.com

1 ตุลาคม 2565-การประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC มีชื่อเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการว่า การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก

ชื่อนี้เป็นชื่อทางการที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับราชบัณฑิตยสถานแล้วกำหนดขึ้น โดยอาศัยหลักเกณฑ์การทับศัพท์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕

การที่ APEC เขียนทับศัพท์ว่า เอเปก นั้น อาศัยหลักเกณฑ์ ๒ ข้อคือ

ข้อแรก (หรือข้อ ๑๕ ในหลักเกณฑ์) คำทับศัพท์ที่ผูกขึ้นจากตัวย่อ ซึ่งอ่านออกเสียงได้เสมือนคำคำหนึ่ง มิได้ออกเสียงเรียงตัวอักษร ให้เขียนตามเสียงที่ออกและไม่ต้องใส่จุด

ข้อที่สอง (จากตารางเทียบเสียงพยัญชนะภาษาอังกฤษ) ตัว c ซึ่งเป็นพยัญชนะต้น หากตามมาด้วยตัว a o u r l ให้แทนด้วย ค ควาย หากตามมาด้วยตัว e i y ให้แทนด้วย ซ โซ่ ในกรณีที่ออกเสียง ช ให้แทนด้วย ช ช้าง แต่ถ้าเป็นตัวสะกดให้แทนด้วย ก ไก่ เพียงตัวเดียว

ฉะนั้น หากต้องการเขียนให้ถูกต้องตามแบบของราชการก็ต้องเขียนว่า “เอเปก”

ในกรณีที่มีผู้เขียนว่า “เอเปค” นั้นเป็นเพราะผู้เขียนมิได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่ไปใช้อีกเกณฑ์หนึ่งที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ นั่นคือ ใช้ตัวอักษรเดียวกันทั้งที่เป็นพยัญชนะต้น และพยัญชนะตัวสะกด เช่น นิวยอร์ค คำนี้ถ้าใช้เกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานจะเขียนว่า “นิวยอร์ก”

ถึงแม้ว่าเกณฑ์นี้ คณะรัฐมนตรีจะได้เห็นชอบเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเกณฑ์ที่เพิ่งเกิดในปีนั้น หลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานฉบับแรกประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๘๕ ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วประกาศใช้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๒ ส่วนฉบับที่นำมาประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕ นั้น เป็นการประกาศใช้ร่วมกับหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอื่นๆ อีก ๘ ภาษา หลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานจึงมีขึ้นก่อนที่จะเกิด เอเปก ในปี พ.ศ.๒๕๓๒

ส่วนที่มีผู้อธิบายว่า “เมื่อถอดตัวสะกดจากภาษาอังกฤษนั้น ราชบัณฑิตกำหนดว่า หากการใช้ ก สะกด ทำให้ทับซ้อนกับคำในภาษาไทยที่มีความหมายอยู่แล้ว ให้เลี่ยงเป็น ค แทนได้” นั้น น่าจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะราชบัณฑิตยสถานไม่เคยกำหนดเช่นนั้น

ในกรณีที่การถอดคำจากภาษาอังกฤษแล้วทำให้คำนั้นมีลักษณะเหมือนกับคำไทย มีกล่าวไว้เพียง ๒ ข้อคือ

เกณฑ์การใช้ไม้ไต่คู้ ซึ่งใช้เพื่อให้เห็นแตกต่างจากคำไทย เช่น

log = ล็อก

เกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ ซึ่งใช้ในกรณีที่คำนั้นมีเสียงซ้ำกับคำไทยจนทำให้เกิดความสับสน เช่น

coke = โค้ก

coma = โคม่า

ฉะนั้น การที่มีผู้เขียนว่า เอเปค จึงไม่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานแต่ประการใด

อนึ่ง นอกจากคำว่า เอเปก แล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังได้ประสานงานกับราชบัณฑิตยสถานในการทับศัพท์ชื่อผู้นำพร้อมชื่อภรรยาหรือคู่สมรสด้วย

ตัวอย่าง เช่น

Mr.Jean Chretien = นายชอง เกรเตียง

Mr.Hu Jin Tao = นายหู จิ่น เทา

Mrs.Lui Yonqing = นางหลิว หย่งชิง

รายละเอียดหาดูได้ใน จดหมายข่าว ราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑๔๘ กันยายน ๒๕๔๖

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

ข้อมูล สำนักงานราชบัณฑิตยสภา



Written By
More from pp
เช็คลิสต์ DoiTung’s Gife for New Year 2020 ดีต่อใจ…ดีต่อโลก ที่คนรักงานคราฟต์ต้องมี
ผลผลิตจาก ดอยตุง ที่แท้จริง นำมาซึ่งการพัฒนาชีวิตและสังคม เปลี่ยนคนที่เคยยากจน ให้เป็นผู้ผลิตผลงานและบริการที่มีคุณภาพ มีอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่งคง ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจให้ “ผู้ใช้” และ “ผู้ทำ” แบรนด์ดอยตุง ธุรกิจเพื่อสังคมของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โดย “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” จึงคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์ อาทิ กาแฟอาราบิก้าดอยตุง พืชที่สร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ โดดเด่นด้วยรสชาติ คุณภาพคับเมล็ดจนได้ตรา GI การันตีว่าเป็นของดีมีคุณภาพ...
Read More
0 replies on ““เอเปก” หรือ “เอเปค” เขียนภาษาไทยให้ถูก – รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ”