๘ มิถุนายน ๒๕๖๕-นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และผู้บริหาร รฟท. เดินทางลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงยมราช – พญาไท บริเวณชุมชนบุญร่มไทร เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาการบุกรุก พร้อมกับติดตามการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เขตก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ช่วงยมราช – พญาไท บริเวณชุมชนบุญร่มไทรครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนภาครัฐ ควบคู่กับการบริหารจัดการนำทรัพย์สินที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ระหว่างการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ รฟท. ได้มีการพบปะพูดคุยกับชุมชนฯ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก และหาทางออกร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของชุมชนบุญร่มไทร รฟท. ได้มีความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ จัดสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาด ๓๑๕ ยูนิต บริเวณพื้นที่ริมบึงมักกะสัน เขตราชเทวี สำหรับรองรับการย้ายของชุมชนให้ไปเช่าอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการขออนุมัติของหน่วยงานรัฐ และการออกแบบเพื่อก่อสร้าง
ประกอบด้วย ห้องพักขนาด ๒๘.๕ ตารางเมตร ขนาด ๑ ห้องนอน และขนาด ๓๔.๖ ตารางเมตร ขนาด ๒ ห้องนอน และมีพื้นที่รองรับศูนย์ดูแลเด็ก ศูนย์สุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง ห้องประชุม พื้นที่ส่วนกลางสำหรับประกอบอาหาร พื้นที่เก็บรถเข็นสำหรับประกอบอาชีพ รวมถึงมีตลาดสดภายในชุมชน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างในปี ๒๕๖๗ ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ ๑ ปี
“รฟท. มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการดูแลประชาชนทีได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนของรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการพิจารณาพื้นที่ปลูกสร้าง และรูปแบบที่พักอาศัยที่เหมาะสม ตลอดจนความสามารถในการชำระค่าเช่าของแต่ละครัวเรือน ซึ่งเป็นนโยบายที่ รฟท. ให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด”
นายนิรุฒกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ขณะนี้ รฟท. สามารถแก้ปัญหาในภาพรวม พร้อมกับทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกจนได้รับความยินยอมออกจากพื้นที่ครบ ๑๐๐% แล้ว และหลังแก้ไขเสร็จ รฟท. ได้กำหนดแผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนผู้ได้รับสัมปทานโครงการในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยตลอดโครงการมีระยะทาง ๒๒๐ กิโลเมตร มูลค่าโครงการ ๒๒๔,๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และสนับสนุนการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของชุมชนได้ในอนาคตอันใกล้