11 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น.ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้เร่งรัดการไต่สวนสอบสวนและวินิจฉัย 18 ส.ส.ที่ยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐในรูป ส.ป.ก.และภ.บ.ท.5
โดยเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้แล้ว กรณีการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส. ราชบุรี เป็นเหตุให้ต้องตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่นหรือเลือกปฏิบัติ เพราะยังมี ส.ส.หลายรายที่สมาคมฯได้ร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. ซึ่งระยะเวลาไล่เลี่ยกับการร้องเรียนกรณีของปารีณา คือ ครั้งแรกวันที่ 20 พ.ย.62 จำนวน 3 ราย (มี น.ส.ปารีณาด้วย) ครั้งที่ 2 วันที่ 27 พ.ย.62 จำนวน 3 ราย
ครั้งที่ 3 วันที่ 4 ธ.ค.62 จำนวน 13 ราย รวม 19 ราย โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ 5 ราย พรรคเพื่อไทย 4 ราย พรรคภูมิใจไทย 5 ราย พรรคประชาธิปัตย์ 2 ราย พรรคก้าวไกล 2 ราย พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ราย ซึ่งถือครองที่ดิน ส.ป.ก.จำนวน 6 ราย ถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 จำนวน 12 ราย
แต่เหตุใดกรณีของ น.ส.ปารีณา ป.ป.ช.จึงวินิจฉัยส่งให้อัยการฟ้องต่อศาลฎีกาได้เร็วกว่า ส.ส.รายอื่น ๆ ทั้งๆที่สมาคมฯ ร้องเรียนไปในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ผู้คัดค้าน เรื่อง การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้ว ถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นการที่ ส.ส.ซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้สูง ไม่เป็นคนยากจน ไปถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ย่อมเป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่น ทำให้ไม่สามารถนำที่ดินไปจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน ย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงใจว่า
เหตุใดผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงสามารถครอบครองที่ดินจำนวนหลายไร่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ ส.ส.ซึ่งควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปไม่พึงปฏิบัติ การกระทำของส.ส.ที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.จึงเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรสอง นั่นเอง
ส่วน ส.ส.ที่ถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 แม้ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดเป็นบรรทัดฐาน แต่เมื่อเทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2519 ก็อาจทำให้ ป.ป.ช.วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นเพราะ “ผู้ที่มีชื่อในใบเสร็จเสียเงินบำรุงท้องที่เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษีเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครอง”
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงมายื่นคำร้องในวันนี้ เพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เร่งรัดการไต่สวนสอบสวนและวินิจฉัย ส.ส.อีก 18 รายที่เหลือที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. และภ.บ.ท.5 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเหมือนกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด