นายกฯ ประชุม ศบค. เตรียมปรับมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ระยะ 2 ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางทั้ง 3 กลุ่ม

นายกฯ ประชุม ศบค. เตรียมปรับมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ระยะ 2 ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางทั้ง 3 กลุ่ม (พฤษภาคม 2565) แต่ขอประเมินช่วงสงกรานต์ก่อน พร้อมสั่งการระดมสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์ฯ เตียง ยา เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอต่อการดูแลผู้ติดเชื้อ

8 เมษายน 2565 เวลา 09.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 6/2565 รับทราบร่างการปรับมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go Sandbox และ Quarantine ระยะ 2 ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า ต่างประเทศชื่นชมการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาติดเชื้อน้อย และหลังจากที่ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ มีการเดินทางเข้าใหม่มากขึ้น โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มบุคลากรในการปฏิบัติงาน เพื่ออำนวยความสะดวกและประสิทธิภาพการบริการด้วย สำหรับการประชุม ศบค.วันนี้ เพื่อรับทราบสถานการณ์ ติดตามประเมินสถานการณ์ภายหลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์มาตรการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

แต่ยังคงมาตรการการเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ซึ่งเป็นภาวการณ์ที่หลายประเทศก็มีการผ่อนคลายการเข้าประเทศ และบางประเทศได้เปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัว ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการเดินทางเข้าประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยวันนี้จะเห็นว่าชาวต่างชาติได้ทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ถึงแม้จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีอัตราการติดเชื้อที่สูง ติดเชื้อได้ไว และหากการควบคุมทำได้ไม่ดีพอ จะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก และจำนวนผู้เสียชีวิตที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ขอให้พิจารณาให้ผู้ป่วยกลุ่ม 608 และเด็ก สามารถเข้ารับการรักษาในระบบ UCEP Plus ในสถานพยาบาลได้ โดยไม่ต้องรอรักษาตามอาการ และขอให้ ศปก.สธ. ศปก.ศบค. และศปม. ช่วยกันระดมสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตียง ยา และเวชภัณฑ์ ให้มีเพียงพอต่อการดูแลผู้ติดเชื้อทั้งในขณะนี้และช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์

ขณะที่แนวทางการดูแลประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้เพิ่มจำนวนคู่สายของสายด่วน 1330 เพิ่มช่องทางติดต่ออื่น ๆ และเตรียมความพร้อมของระบบให้รองรับความต้องการในปริมาณมากได้ รวมถึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับเรื่องเข้าระบบและให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วที่สุด

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คงจะยังไม่จบง่าย ๆ และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE ที่สามารถแพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและเร็วกว่าทุกสายพันธุ์ ในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะเกิดได้จากการเดินทางกลับบ้าน แล้วมีการพบปะสังสรรค์กันจำนวนมาก

จึงอาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มีผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้ที่เคยป่วยโควิดแล้วก็อาจจะติดเชื้อซ้ำได้อีก ซึ่งเป็นข้อมูลจากทางสาธารณสุข ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม ถ้าหากไม่ระวังตัวเอง จึงขอให้ ศปก.สธ. เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อในประเทศไทย เพื่อเตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีย้ำให้เร่งให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับภาวะหลังติดเชื้อโควิด-19 (Long COVID) เพราะการติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ แม้หายแล้วก็จะมีโอกาสเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวในผู้ป่วยบางราย จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการกำกับติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถต่อไป รวมถึงเตรียมแผนรับมือกับภาวะหลังติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูแลผู้ป่วยที่อาจประสบปัญหา Long COVID จนทำให้บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการติดตามความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 มีความสำคัญมาก ขอให้เป็นวาระรายงานในที่ประชุม ศบค. เป็นระยะ ๆ เป็นแนวทางให้ประชาชนได้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนให้ป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างสูงสุดต่อไปอีก จะต้องไม่ประมาท โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์

สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ต้องไม่หละหลวม ไม่ปล่อยปละละเลย หากตรวจพบจะต้องลงโทษสถานหนักทุกพื้นที่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตให้ได้ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับโควิดได้โดยไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม ขอฝากทุกคนให้ช่วยกันดูแลด้วย และนายกรัฐมนตรียังกำชับให้มีการเตรียมความพร้อมมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการเปิดภาคเรียนวันที่ 17 พฤษภาคมนี้

สำหรับมติที่ประชุม ศบค. ที่สำคัญมีดังนี้

1. รับทราบร่างการปรับมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go Sandbox และ Quarantine ระยะ 2 (พฤษภาคม 2565) ที่มีแผนงาน
  1. ประกอบด้วย ระบบการลงทะเบียน – ปรับหลักฐานที่ต้องใช้ในระบบ Thailand Pass
  2. ผลตรวจก่อนเดินทาง – ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางทั้ง 3 กลุ่ม
  3. ประกันภัย – ผ่อนคลายวงเงินประกัน หรืออื่น ๆ
  4. ปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อ เมื่อมาถึง และระหว่างพำนัก กรณี Test & Go – ปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อฯ เมื่อเดินทางมาถึง กรณี Quarantine ลดระยะเวลากักตัว กรณีผู้ควบคุมยานพาหนะฯ และลูกเรือ ลดระยะเวลากักตัว หรือผ่อนคลายอื่น ๆ
  5. กรณีผู้เดินทางติดเชื้อฯ และกรณีเป็นผู้เสี่ยงสูง (HRC) – ผู้ติดเชื้อฯ อาการเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) ผ่อนคลายอื่น ๆ – ผู้เสี่ยงสูง (HRC) ยกเลิกการกักตัว หรือผ่อนคลายอื่น ๆ

2. เห็นชอบแผนการจัดหา Long-acting antibody (LAAB) สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ที่มีหลักการ ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Passive immunity) ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน มีรายละเอียดในเอกสารกำกับยา คือ

  1. เป็น Antibody ชนิด long-acting antibody มีส่วนประกอบ 2 ชนิด (150 mg tixagemab co-packaged with 150 mg cilgavimab)
  2. ผ่านการรับรองใช้แบบฉุกเฉิน EUA โดย US FDA เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564
  3. ขึ้นทะเบียนยาโดยบริษัท AstraZeneca ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มีข้อบ่งใช้ คือ

กลุ่มเป้าหมายผู้มีความเสี่ยงสูงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค สำหรับเชื้อไวรัสโควิด ขนาดการใช้ ฉีดเข้ากล้ามทุก 6 เดือน ภูมิต้านทานสามารถป้องกันโควิด19 ได้ 6 -12 เดือนต่อการให้ 1 ครั้ง

ประสิทธิผล ร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงของโควิด 19 สายพันธุ์ Omicron subvariants BA.1 BA.2 และ BA.1.1 สำหรับกระบวนการจัดหา หารืออัยการสูงสูงสุดแนะนำให้ปรับสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเปลี่ยนจากวัคซีน AstraZeneca บางส่วน โดยอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม. อนุมัติแล้วและไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม (ข้อมูล ณ 8 เมษายน 2565)

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยนโยบายของรัฐบาล และ ศบค. ขอให้เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัย เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของตัวเองในการเดินทาง เคารพกฎจราจร ปลอดภัยจากโควิดและเดินทางปลอดภัย พร้อมย้ำว่า ขอให้รักตนเอง รักครอบครัว รักผู้อื่น


Written By
More from pp
ศาล รธน.มีคำวินิจฉัยนโยบายหาเสียงแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง สั่งหยุดการกระทำ
31 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 14.15 น.ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49...
Read More
0 replies on “นายกฯ ประชุม ศบค. เตรียมปรับมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ระยะ 2 ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางทั้ง 3 กลุ่ม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i 0 || bottom > 0) && top