กระทรวงมหาดไทย ระบุ “ช้างพลายเอกชัย” ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ชำนาญคชลักษณ์ พร้อมแนะผู้ครอบครองช้างต้องไม่ให้ข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของสาธารณชน

กระทรวงมหาดไทย ระบุ “ช้างพลายเอกชัย” ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ชำนาญคชลักษณ์ พร้อมแนะผู้ครอบครองช้างต้องไม่ให้ข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของสาธารณชนทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นช้างที่มีมงคลลักษณะ 7 ประการ ที่อาจเข้าข่ายเป็นช้างสำคัญหรือช้างเผือก ได้แก่ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว และอัณฑโคตร์ขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ สามารถแจ้งได้ที่นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับ กรณีศูนย์อนุรักษ์ช้างในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามมีช้างเชือกหนึ่งชื่อ “พลายบุญยง” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “พลายเอกชัย” โดยผู้ครอบครองช้างได้สังเกตเห็นลักษณะพิเศษแตกต่างจากช้างเชือกอื่น ๆ คือ

มีคุณลักษณะเป็นช้างสำคัญหรือช้างเผือกตามตำราคชลักษณ์ และได้แจ้งไปยังนายอำเภอวาปีปทุมในฐานะนายทะเบียนท้องที่ที่ช้างอยู่ ซึ่งนายอำเภอวาปีปทุมได้เข้าทำการตรวจสอบพบว่ามีเอกสารแสดงรูปพรรณช้าง และสุขภาพช้างเบื้องต้นมีสุขภาพดี กินอาหารและน้ำได้ตามปกติ ไม่พบลักษณะภายนอกที่ผิดปกติ และได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามเพื่อรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับทราบข้อมูลกรณีช้าง “พลายเอกชัย” แล้ว ซึ่งในขณะนี้ ช้างเชือกดังกล่าวยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ชำนาญคชลักษณ์ตามกฎหมาย

ดังนั้น ผู้ครอบครองช้างต้องไม่ให้ข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของสาธารณชน รวมทั้งต้องไม่เคลื่อนย้ายช้างออกนอกพื้นที่จังหวัดที่จะเป็นการทรมานช้างอันอาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายช้างสำคัญ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของการพิสูจน์ลักษณะช้าง รวมถึงการเคลื่อนย้ายช้าง เพื่อไม่เป็นการทรมานช้างนายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคำว่า “ช้างสำคัญ” ตามพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 หมายถึง ช้างที่มีมงคลลักษณะ 7 ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว และอัณฑโคตร์ขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่

ซึ่งผู้ใดที่มีช้างสำคัญ หรือช้างสีปลาด หรือช้างเนียม ต้องนำขึ้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และช้างดังกล่าวจะเป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยมีขั้นตอนการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย 7 ขั้นตอน คือ


1) เจ้าของช้างต้องทำหนังสือไปยังนายอำเภอ ว่าสงสัยว่าช้างของตนเองอาจเป็นช้างสำคัญ (ช้างที่เลี้ยงไว้หรือเป็นช้างป่า) ซึ่งมีลักษณะเป็นมงคลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

2) นายอำเภอรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อมีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย

3) กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งสำนักพระราชวัง เพื่อขอผู้ชำนาญคชลักษณ์ไปตรวจรูปพรรณช้าง และรายงานเลขาธิการพระราชวัง

4) การตรวจคชลักษณ์เป็นหน้าที่ของผู้ชำนาญคชลักษณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเท่านั้น

5) เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและแจ้งมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการต่อไป

6) สำนักพระราชวังและกระทรวงมหาดไทย พิจารณาร่วมกันในการกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการน้อมเกล้า ฯ ถวาย และพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญ และ

7) เมื่อกระทำพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญแล้ว จึงจะนำช้างเข้ายืนโรงในโรงช้างต้น

“หากพี่น้องประชาชนพบเห็นช้างที่มีลักษณะมงคลขั้นต้น 7 ประการ ที่อาจเข้าข่ายเป็นช้างสำคัญหรือช้างเผือก คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว และอัณฑโคตร์ขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ สามารถแจ้งไปยังนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เข้าทำการตรวจสอบเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายลักษณะช้างต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Written By
More from pp
แพทย์ผิวหนังแนะการรักษากระแดด ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง  เผยกระแดดสามารถพบได้บ่อยถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี การรักษากระแดดต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และต้องดูแลตนเองให้ถูกวิธี
Read More
0 replies on “กระทรวงมหาดไทย ระบุ “ช้างพลายเอกชัย” ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ชำนาญคชลักษณ์ พร้อมแนะผู้ครอบครองช้างต้องไม่ให้ข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของสาธารณชน”