ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม

จากที่มีข่าวเรื่องการพูดถึงภรรยานักแสดงผู้มีชื่อเสียงในฮอลลีวูดเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม โดยพิธีกรในงานออสการ์ ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโรคนี้อาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอายหรือเป็นปมด้อยแต่อันที่จริงแล้วโรคนี้เป็นโรคที่รักษาได้ ไม่ควรเป็นโรคที่น่ารังเกียจต่อสังคมเพราะไม่ได้เป็นโรคติดต่อหรือโรคอันตรายแต่อย่างใด

พญ.ชินมนัส เลขวัต ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ โดยอาจจะมีขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น คิ้ว หนวด จอนหรือขนตามร่างกาย ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะหรือขนตามร่างกายร่วงจนหมดตามมา  ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการมากอาจมีผมร่วงเป็นบริเวณกว้างทั้งศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความอับอาย ไม่กล้าเข้าสังคม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

โรคนี้พบได้ประมาณ 0.2% ของประชากรทั้งหมดและพบได้ทุกกลุ่มอายุและเกิดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง โรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านตนเอง (autoimmune disease) ร่วมกับมีการเสียการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกัน (immune privilege) และอาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เกี่ยวข้อง โดยร่างกายอาจถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียดทั้งจากภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารสื่อประสาทที่บริเวณต่อมผม จึงทำให้การสร้างผมผิดปกติและวงจรชีวิตของผมเปลี่ยนจากระยะเจริญเติบโตเป็นระยะหลุดร่วงเร็วขึ้น

โรคผมร่วงเป็นหย่อมมีความสัมพันธ์กับโรคทางผิวหนังและโรคอื่น จากการศึกษาพบว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ (atopic diseases)โรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome), การติดเชื้อ Helicobacter pylori, โรคเอสแอลอี (SLE; systemic lupus erythematosus)โรคซีดจากการขาดธาตุเหล็กโรคไทรอยด์โรคทางจิตโรคขาดวิตามินดี, โรคที่มีความผิดปกติทางหู และโรคที่มีความผิดปกติทางตา

การรักษา การดูแลรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมควรจะรักษาตามมาตรฐานโดยการรักษาขึ้นกับขนาดพื้นที่ของผมร่วงที่ศีรษะ ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย มีผมร่วงเป็นหย่อมเพียงเล็กน้อย อาการผมร่วงอาจหายได้เองหรือไปรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้วยการทายาสเตียรอยด์หรือฉีดยาสเตียรอยด์ที่ศีรษะร่วมกับการทายาไมน็อกซิดิล (Topical minoxidil) 2-5% วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่ ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีผมร่วงทั่วศีรษะหรือมีขนตามร่างกายร่วงด้วย ควรจะพบแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาด้วยยาทาไดฟีนิลไซโคลโพรพีโนนหรือยาทาดีพีซีพีหรือยาอื่นตามที่แพทย์เฉพาะทางพิจารณา


การตอบสนองต่อการรักษาขึ้นอยู่กับยาที่ใช้รักษาความรุนแรงของโรคและระยะเวลาที่เป็นโรคซึ่งแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรหมดกำลังใจในการดำรงชีวิตและการเข้าสังคมเนื่องจากโรคไม่ได้มีผลต่อสุขภาพร่างกาย ไม่ใช่โรคที่อันตรายร้ายแรงและมีหนทางในการรักษา เพื่อนหรือคนในครอบครัวควรให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย บุคคลภายนอกควรเห็นใจและให้กำลังใจกันและกัน ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

พญ.ชินมนัส เลขวัต

ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

Written By
More from pp
“คุณหญิงสุดารัตน์” เล่า 30 ปีชีวิตการเมือง รับใช้ประชาชน ไม่เคยลืมความไว้วางใจ
“คุณหญิงสุดารัตน์” เล่า 30 ปีชีวิตการเมือง รับใช้ประชาชน ไม่เคยลืมความไว้วางใจ เผยอังคารที่ 22 มีนาคม เตรียมจัดงานใหญ่ พร้อมฟังการเปิดใจ ตลอด...
Read More
0 replies on “ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม”