“ตรีนุช” บินด่วนลงพื้นที่นราธิวาส ห่วงสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ มอบหมายหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษา“เกาะติด-รายงาน”สถานการณ์ใกล้ชิด หลัง 197 โรงเรียนได้รับผลกระทบ สพฐ.จัดสรรงบช่วยเหลือทันที พร้อมช่วยเหลือครอบครัว “นพดล มะลิลา” ขณะเดียวกัน ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจอาชีวะ Fix It จิตอาสา ช่วยผู้ประสบอุทกภัย พร้อมเปิดงาน “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย สัญจร” กระตุ้นตื่นตัวภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ชวนดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน MOE Safety Center ร่วมเป็นสายตรวจเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กไทย
3 มีนาคม 2565 ที่จังหวัดนราธิวาส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส
โดย นางสาวตรีนุช เปิดเผยว่า การลงพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาสวันนี้ ตนเอง และกระทรวงศึกษาธิการ มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ อีกทั้ง ตน ได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ตนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
“ทั้งนี้เพื่อเป็นการเยียวยา และสร้างขวัญกำลังใจ โดยเบื้องต้น สพฐ.ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือ 260,000 บาท ให้แก่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายรวม 197 โรงเรียน ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 47,402,787 บาท โดยมีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ 14,645 คน และครูที่ได้รับผลกระทบอีก 342 คน อีกทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัว นายนพดล มะลิลา ซึ่งเป็นพนักงานราชการของโรงเรียนนิคมพัฒนา 10 ผู้ประสบอุทกภัยที่เสียชีวิตอีกด้วย” นางสาวตรีนุช กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ตน ยังได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่นักเรียน นักศึกษา ครู ทีม Fix it Center อาชีวะจิตอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ณ โรงเรียนบ้านตือระ มิตรภาพที่ 172 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ดำเนินการโดยทีมจากวิทยาลัยเทคนิค (วท.) บางนรา วท.ปัตตานี และวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา และจุดให้บริการ ณ บริเวณโรงเรียนบ้านมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
ซึ่งดำเนินการโดยวิทยาลัยการอาชีพ.สุไหงโก-ลก วิทยาลัยเทคนิคยะลา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ที่ออกให้บริการจัดน้ำดื่ม การปรุงอาหาร มอบให้แก่ผู้ประสบภัย อีกทั้งซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน และการดำรงชีพ ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องในเขตจังหวัดนราธิวาส ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และชุมชน
“กระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยจากปัญหาไวรัสโคโรน่า หรือ covid-19 และสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ด้านความเป็นอยู่ของชุมชนและการศึกษา ของนักเรียนนักศึกษา และขอขอบคุณศูนย์ซ่อมสร้าง Fix it Center จิตอาสา สังกัดของ สอศ. ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ที่ได้ร่วมตั้งศูนย์ให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผลกระทบอุทกภัยแล้ว ยังส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษานำความรู้ความชำนาญด้านงานช่าง มาให้บริการพี่น้องในชุมชนด้วย แสดงให้เห็นถึงความเป็นจิตอาสา ซึ่งทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ นักศึกษาอาชีวะ ก็จะออกมาช่วยเหลือประชาชนเสมอ” นางสาวตรีนุช กล่าว
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ตรวจติดตามโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ณ วิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดน ของ 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อรองรับนักเรียนที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ ไม่หลุดจากระบบของการศึกษา และในความพิเศษของพื้นที่ และการเรียนการสร้างอาชีพ นักเรียนอยู่ประจำทุกคน จะมีกิจกรรมเป็นของตนเองในการสร้างรายได้ระหว่างเรียน เช่น การผลิตน้ำดื่มเพื่อการจำหน่าย การทำฟาร์มแบบเศษฐกิจพอเพียง และนำผลผลิตทางการเกษตรออกจำหน่าย เป็นต้น
นอกจากนี้ นางสาวตรีนุช ยังได้เข้าเปิดงาน “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย สัญจร” ณ โรงเรียนนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โดยกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญ และมีความตื่นตัวต่อความปลอดภัยของเด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา เพราะภัยที่หลากหลายมาถึงลูกหลานของเราได้อย่างไม่รู้ตัว ทั้งภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ และภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ
“โดยเฉพาะภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนรุนที่แรงมากขึ้น มีความถี่ของเหตุการณ์บ่อยครั้งขึ้น ทั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถูกรังแกจากผู้ไม่หวังดี ซึ่งสื่อออนไลน์เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคม ที่มีด้านบวกเป็นคุณต่อระบบการศึกษา เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่สื่อออนไลน์เอื้อประโยชน์ต่อการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก แต่ผลด้านลบก็มีไม่น้อยกว่ากัน ทั้งสื่อลามกอนาจาร การพนัน สารเสพติดค่านิยม พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการเสพติดเกมออนไลน์ ซึ่งเหล่านี้นับเป็นภัยระดับบุคคลที่ไม่อาจมองข้าม” นางสาวตรีนุช กล่าว
ทั้งนี้ ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ เช่น การถูกล้อเลียน แฉประจาน ทำให้อับอาย เสียใจ กีดกันออกจากกลุ่มเพื่อนถูกติดตามคุกคามความเคลื่อนไหวของเด็กทางสื่อออนไลน์ ที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวไม่ปลอดภัย หรือไม่สบายใจ ถูกล่อลวงทางเพศ ให้พูดคุยเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม ถูกแบล็กเมลทางเพศ ถูกข่มขู่เรียกเงิน หรือ แสวงหาประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้กระทำใช้ภาพหรือวิดีโอทางเพศของเด็ก ซึ่งเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ มักไม่กล้าที่จะเล่า หรือปรึกษากับใคร แม้กับเพื่อนๆ ภายในกลุ่มด้วยกัน
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวเสริมว่า ศูนย์ MOE Safety Center ภายใต้การดูแล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นกลไกหนึ่งในการรับแจ้งข่าวสารที่จะเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ โดยเรามีแอปพลิเคชันที่เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งทุกคนสามารถโหลดเพื่อใช้งานในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาผ่านโทรศัพท์มือถือได้แล้ว และการแจ้งเหตุที่สะดวกจะช่วยให้เราสามารถรับทราบความเสี่ยง หรือความไม่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
“ดิฉันจึงขอเชิญชวนให้ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และเยาวชน รวมถึงผู้ปกครองทุกท่านร่วมกันดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของ MOE Safety Center และร่วมเป็นสายตรวจเฝ้าระวังความเสี่ยง และภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา” นางสาวตรีนุช กล่าว