ลูกคนรวยหัวกล้วย-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มีประเด็นให้ถกเถียงกันอีกแล้ว

“ลอกเลียนแบบ” กับ “แรงบันดาลใจ” ต่างกันอย่างไร?

เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน?

หลัง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ถูกจับโป๊ะว่าลอกงานวาดภาพ “เบนจา อะปัญ” แกนนำสามนิ้วที่เพิ่งออกจากคุก จากภาพชื่อ Night Light ผลงานของ Damian Lechoszest  ศิลปินแนว Impressionist Realism ชาวโปแลนด์

“ธนาธร” แก้ตัวเรื่องนี้ ยืนยันว่า ไม่ใช่การลอกผลงาน

…ผมประหลาดใจอย่างมากที่จู่ๆ ก็เกิดการปั่นกระแสกันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ว่าผลงาน When She  Opens the Door และ Silence ของผม ซึ่งถูกประมูลในตลาด  NFT เป็นการลอกเลียนแบบผลงานศิลปินต่างประเทศ

มีการตำหนิติเตียนผมอย่างรุนแรงว่าเป็นผู้ไม่เคารพสิทธิของศิลปิน ขโมยความคิดสร้างสรรค์ของคนอื่นมาเป็นผลงานของตนเอง

ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรงและไม่เป็นธรรมต่อผมอย่างมาก

ผมเป็นนักวาดภาพมือสมัครเล่น วิธีการวาดภาพของผมก็เหมือนกับคนเรียนวาดเขียนส่วนใหญ่ในโลก นั่นคือการฝึกวาดจากงานศิลปะชั้นครู หรืองานที่ตัวเองชื่นชอบ

ภาพทุกภาพที่ผมวาด ไม่ได้คิดว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นงานอดิเรกส่วนตัวของผม

แต่เมื่อผมตัดสินใจนำภาพมาประมูล เพื่อนำรายได้ไปบริจาคให้กับองค์กรต่างๆ ผมก็ได้ระบุชัดว่าภาพแต่ละชิ้น ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานชิ้นใด

ทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมาที่สุด จนไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าเกิดการปั่นกระแสว่าผมลอกผลงานคนอื่นได้อย่างไร

ภาพ When She Opens the Door ผมระบุทั้งในโพสต์เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของ  Damian Lechoszest

ผมยังเขียนอีเมลไปเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องราวการต่อสู้ของเบนจา และแรงบันดาลใจของผมในการวาดภาพนี้เพื่อนำเงินที่ได้จากการประมูลไปมอบให้กับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ส่วนภาพ Silence ผมได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วเช่นกันว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก @colorbyfeliks ซึ่งเจ้าตัวระบุไว้ว่าใครนำภาพของเขาไปสร้างสรรค์ต่อก็แค่ให้เครดิตชื่อเขาไว้ก็เพียงพอ

ถือว่าเป็นธรรมชาติของวงการ digital art ที่จะมีการทำซ้ำ เผยแพร่ ส่งต่อผลงาน โดยเจ้าของผลงานไม่ได้หวงห้าม  เพียงแต่ต้องระบุว่าภาพนั้นต้นฉบับเป็นของใคร

เป็นอีกครั้งที่ผมต้องออกมาชี้แจงในประเด็นข้อกล่าวหาที่เป็น “เรื่องไม่เป็นเรื่อง” อันเกิดจากกระบวนการทำลายชื่อเสียงของผมอย่างเป็นระบบผ่านปฏิบัติการ IO และสื่อบางสำนัก

ผมขอประกาศไว้ตรงนี้ว่าสิ่งที่พวกคุณพยายามทำจะไม่สำเร็จ แม้ผมจะต้องเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ไปบ้าง แต่มันจะไม่ทำให้ผมท้อถอยหรือหยุดการทำงานการเมือง

และผมเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณพอที่จะแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากข่าวลวง การปลุกปั่นกระแส และการใส่ร้ายสร้างความเกลียดชัง…

ครับ…IO ก็มา

ไม่เฉพาะ “ธนาธร” ครับ ที่โดนวิจารณ์เรื่อง ลอกผลงานผู้อื่น บุคคลระดับโลกโดนมาเยอะแล้ว ขนาด “ลุงตู่” ยังเคยโดนเรื่องลอกคำพูด อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

คือถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

 “เราทุกคนไม่มีแผน ๒ ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกที่ ๒ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

แต่ที่จริงแล้ว โอบามา ก็เอามาจาก “บัน คีมูน” อดีตเลขาธิการยูเอ็น ที่พูดกับนักข่าวเมื่อปี ๒๕๕๗ ว่า

 “There is no plan B, because we do not have planet  B”

ปีถัดมา โอบามา นำประโยคนี้มาใช้

แต่นั่นลอกเพื่อสร้างสรรค์ อย่างน้อยๆ ก็เป็นแนวทางให้มวลมนุษยชาติได้รับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หากมนุษย์ทำร้ายธรรมชาติมากขึ้น

แต่กรณี “ธนาธร” ก๊อปปี้ภาพวาดนั้น ต่างออกไป

“ธนาธร” ยังเข้าใจความเป็นบุคคลสาธารณะน้อยเกินไป อาจเป็นไปได้ว่า ยังหลงเหลือความเป็นฮ่องเต้ซินโดรมอยู่ในสำนึก และพร้อมที่จะระเบิดอารมณ์นั้นออกมาได้ตลอดเวลา

เส้นแบ่งระหว่าง ลอกเลียนแบบ กับแรงบันดาลใจ อยู่ตรงไหน

โลโก้พรรคอนาคตใหม่ลอกเขามา

แคมเปญเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ลอกเขามา

เอาที่ชัดๆ และมีคนทวง ก็กรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”  หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กใช้ภาพพ่นสีวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แต่กลับไปเหมือนงานกราฟิตี “แป้ง-สมรนนท์ แย้มอุทัย” ศิลปินกราฟิตีชื่อดัง แนวร่วมม็อบราษฎร

นี่แนวร่วมกันเองนะครับ

เขาทวงเครดิตผ่านทางโซเชียลไปยัง “พิธา”

“สำหรับคุณอาจจะเป็นแค่ภาพพ่นถนน แต่สำหรับผมและคนออกแบบฟอนต์ มันคืองานศิลปะครับ คุณหัวหน้าพรรค…คราวหน้าบอกกันหน่อยก็ดีนะครับ เจอแบบนี้ไม่น่ารักเลย

ไม่ได้ติดใจอะไรเรื่องฟอนต์ครับ แค่งงว่าทำไมแก้งานผมแบบนี้แค่นั้นเองครับ ถ้าใช้ภาพจากถนนที่อื่นมาทำก็ได้ครับ แต่อันนี้คือลบงานผมออก แล้วพิมพ์ทับด้วยฟอนต์เดิมลงไป”

นั่นคือการขโมยงานอย่างน่ารังเกียจที่สุด

ในแวดวงศิลปิน เขาขีดเส้น งานลอกเลียนแบบ กับแรงบันดาลใจ เอาไว้ชัดเจนระดับหนึ่ง

 “แรงบันดาลใจ” คือ การนำส่วนใดส่วนหนึ่งมาสานต่อแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตามที

แต่สาระของมันก็คือ สิ่งนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด การพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นงานใหม่ ตามเอกลักษณ์ของศิลปินคนนั้นๆ

จากนั้นก็พัฒนางานไปเรื่อยๆ นี่คือแรงบันดาลใจ

ส่วนงานลอกเลียนแบบ คืองานที่ลอกเค้าโครงเดิมเกือบทั้งหมด คนเป็นคน ต้นไม้เป็นต้นไม้ หมาเป็นหมา

ตะเกียงก็เป็นตะเกียง!

ที่แตกต่างก็แค่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญไม่ได้ต่อยอดอะไรเลย นอกจากเอาภาพต้นแบบมาส่องแล้วตั้งหน้าตั้งตาลอก

ถ้าบอกว่าลอกแล้วให้เครดิต ไม่ถือว่าเสียหาย บางกรณีมันก็ใช่ครับ แต่ผู้นั้นเขาไม่เรียกว่าศิลปิน

จะบอกว่าศิลปินสมัครเล่นก็ไม่ได้

มันแค่คนลอกงาน!

ในโซเชียลเขาตั้งประเด็นไว้น่าสนใจ

ถ้าไทยซัมมิทถูกก๊อปงาน มีคนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้วบอกว่า มีไทยซัมมิทเป็นแรงบันดาลใจ ทำแล้วไม่ได้ขาย เอาไปใช้เอง แถมให้เครดิตไทยซัมมิทด้วย

มีคนอ้างแบบนี้สักพันคน ถาม “ธนาธร” หน่อย…ไหวไหม

ที่จริงงานวาดแบบนี้ “ธนาธร” ไม่จำเป็นต้องไปหาแรงบันดาลใจอะไร

ก็ในเมื่อประกาศตัวมาตลอดว่า อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย  เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาชน ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เรียกร้องให้ยกเลิก ม.๑๑๒ ฉะนั้นการวาดรูป  “เบนจา อะปัญ” ผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒ ที่กลั่นออกมาจากมันสมองที่เข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร

ก็สงสัยว่าเรื่องแบบนี้ทำไม “ธนาธร” ยังต้องการแรงบันดาลใจ

ผมเห็นด้วยกับประโยคทองของ “นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต” นักแสดงหนุ่มที่รับบท “แวน ธิติพงษ์” นักธุรกิจพันล้าน

“เกิดเป็นลูกคนรวย ถ้าไม่ทำตัวหัวกล้วยเกินไป ยังไงก็ประสบความสำเร็จครับ”


Written By
More from pp
อาหารโฮมเมดที่ Boat Bar & Bistro ถนนเกษตร-นวมินทร์-สันติ อิ่มใจจิตต์
สันติ อิ่มใจจิตต์ ชื่อร้าน Boat Bar & Bistro เจ้าของ คุณปฏิญญา (โบ๊ต) วิบูลย์นันท์ สถานที่...
Read More
0 replies on “ลูกคนรวยหัวกล้วย-ผักกาดหอม”