เชื่อหมออย่าเชื่อหมา (อีกรอบ)-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เบื่อนักการเมืองปากอย่างใจอย่าง

ฉีดวัคซีนไม่บอกใคร

พอสังคมรู้เข้าโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

ขู่จะฟ้องให้เรียบ

ก็ไม่รู้จะโมโหไปทำไม กับอีแค่ฉีดวัคซีน

ช่างไร้ประโยชน์จริงๆ

ครับ…องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าประชากรเกินครึ่งในยุโรปจะติดโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน ภายในเดือนมีนาคมนี้

สื่อต่างประเทศตีข่าวกันใหญ่โต ว่ายังมีผู้คนเดินพลุกพล่านบนถนนสายหลักกลางกรุงลอนดอน ส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ วันละ ๑-๒ แสนราย

มีตัวเลขน่าตกใจ ช่วง ๗ วันที่ผ่านมา ยุโรปมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ ๘ ล้านคน

จะเยอะไปไหน

องค์การยายุโรป (อีเอ็มเอ) ชี้ว่าการแพร่กระจายของโอมิครอนกำลังผลักดันให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มนุษยชาติสามารถอยู่ร่วมได้

เราจะเริ่มได้ยินประโยคเช่นนี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จากทั่วโลก รวมทั้งในไทย

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. สรุปสถานการณ์โดยรวมไว้วานนี้ (๑๒ มกราคม) ว่า ลักษณะของโรคมีการลดความรุนแรงลง และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน อัตราการป่วย และเสียชีวิตอยู่ในระดับที่ต่ำ รวมทั้งการให้ความร่วมมือของประชาชน และสถานประกอบการ

จึงคาดหวังว่า ในปีนี้ โควิดจะเปลี่ยนจาก “โรคระบาด”  เป็น “โรคประจำถิ่น”

โอมิครอน จะเป็นไวรัสโควิด-๑๙ ตัวสุดท้ายหรือไม่ ในทางการแพทย์ก็ยังไม่ชัดครับ

แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง หมอแอนโทนี เฟาซี หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่า แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ และผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสหรัฐฯ จะสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สหรัฐฯ กำลังอยู่ในเกณฑ์เปลี่ยนผ่านไปสู่การอยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่สามารถจัดการและรับมือได้

“เมื่อเราไปถึงจุดนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในตอนนี้เราอาจจะอยู่ในเกณฑ์อยู่ร่วมกับไวรัส”

วันนี้ มนุษย์โลกเสียชีวิตเพราะ โควิด-๑๙ กว่า ๕.๕  ล้านคนแล้วครับ

ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีอยู่บ้าง อัตราการเสียชีวิตในปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลง

แต่โควิด-๑๙ จะทำให้มนุษย์เสียชีวิตไปอีกกี่ล้านคน ยังคงเป็นคำตอบที่ตอบยากมาก

แน่นอนว่า ไม่น่าจะเท่าการระบาดของ กาฬโรค ในช่วงปี พ.ศ.๑๘๘๙-๑๘๙๖ ปลายอาณาจักรสุโขทัย ต้นกรุงศรีอยุธยา

เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรง และโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

คาดว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึง ๗๕-๒๐๐ ล้านคน

มากมายแค่ไหนน่ะหรือ

ก็ ๑ ใน ๓ ของประชากรโลกในขณะนั้นเลยทีเดียว

สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เยอร์ซีเนีย เพสติส  (Yersinia Pestis) ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในสัตว์จำพวกหนูในแถบตอนกลางของเอเชีย

จุดเริ่มต้นเชื่อว่ามาจากขบวนคาราวานที่เดินทางมาจากเอเชีย เข้าไปยังท่าเรือที่ซิซิลี ประเทศอิตาลี ประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๐ ก่อนที่จะแพร่ต่อไปทั่วทั้งทวีปยุโรป

ว่ากันว่าซากศพของคนที่ตายนั้น ทับถมกันจนสูงเป็นเนิน ทำให้ไม่สามารถเผาทำลายได้อย่างทันท่วงที

เมื่อซากเริ่มเน่าสลายก็ก่อให้เกิดเชื้อโรคกระจายลงทั้งพื้นดิน

ลงสู่แหล่งน้ำ โรคจึงระบาดไม่จบสิ้น

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-๑๙ ทั่วโลกในขณะนี้เทียบแล้วเท่ากับ สงครามโลกครั้งที่สอง

เป็นสงครามที่กินเวลาตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ ถึง ๒๔๘๘  ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด

แบ่งเป็นพันธมิตรทางทหารคู่สงครามสองฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ

เป็นสงครามที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ มีทหารกว่า ๑๐๐ ล้านนายจากกว่า ๓๐ ประเทศเข้าร่วมโดยตรง

สงครามนี้มีลักษณะเป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง ๕๐ ถึง ๘๕ ล้านคน

สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด และมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

แต่ถ้าเป็นโรคระบาดด้วยกัน ก็เท่ากับการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดสเปน ช่วง พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๓

เป็นการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากผิดปกติ

มีผู้ได้รับผลกระทบ ๕๐๐ ล้านคนทั่วโลก รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกห่างไกลและอาร์กติก

ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๔๐-๕๐ ล้านคน

สำหรับเหยื่อโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน ไม่ได้ล้มหายตายจากเป็นใบไม้ร่วงเหมือนในช่วงเดลตาระบาด ฉะนั้นยังเทียบชั้น กาฬโรคในอดีตไม่ได้แน่นอน

แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วในวันนี้คือ โอมิครอนระบาดเร็วทุบสถิติโควิดทุกสายพันธุ์ไปแล้ว

หมอยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปประเด็นให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ

…โควิด-๑๙ โอมิครอน หลังจากที่มีการระบาดมาแล้ว ๒ เดือน

มีข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับ โอมิครอน เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

โอมิครอน ระบาดได้รวดเร็วมาก กระจายไปทั่วโลก พบแล้วมากกว่า ๑๔๐ ประเทศ หรือจะเรียกว่าทั่วโลกก็ได้  แสดงถึงการขยายตัวเพิ่มขึ้นเร็วมากและกำลังจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา

โอมิครอน ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา

ผู้ติดเชื้อ โอมิครอน มีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา อัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า และภาพรวมอัตราการตายของ โอมิครอน ก็ลดลงกว่าสายพันธุ์ หรือที่มีการระบาดก่อนหน้านี้

การตรวจวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็น RT-PCR หรือการตรวจอย่างรวดเร็วด้วย ATK ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพ เพราะ RT-PCR ส่วนมากเราใช้ยีน N และ RdRp ที่มีความคงที่

ส่วน RDT ก็เป็นการตรวจ nucleocapsid ไม่ใช่เป็นการตรวจหา spike protein ซึ่งส่วนของ nucleocapsid มีความเสถียรมากกว่า

โอมิครอน หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น AZ หรือ mRNA ส่วนใหญ่มีเป้าหมายอยู่ที่ spike protein ที่ โอมิครอน มีการเปลี่ยนแปลงมาก

จึงทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่ผ่านมาลดลง

ประกอบกับ ระยะฟักตัวของโรคสั้น จึงต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดเวลาในการป้องกันการติดโรค เมื่อภูมิต้านทานลดลงก็ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ แต่กระบวนการกำจัด หรือหายจากโรค อาศัยระบบภูมิต้านทานส่วนอื่นด้วย  จึงทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนมีอาการของโรคน้อยลง และจะหายจากโรคได้เร็วกว่า

ทุกครั้งที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นจะมีผลต่อสุขภาพร่างกาย  เศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ ผลกระทบทางจิตใจ ในบางครั้งมีความสำคัญมากกว่าทางร่างกายเสียอีก

สังคมปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารถึงกันได้อย่างรวดเร็วมาก  มีการสื่อทางสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ในบางข่าวจะมีความจริงเพียงเล็กน้อยและใส่ความเห็นเป็นจำนวนมาก  ความเห็นจะมีแนวโน้มเอียง หรือมีอคติได้ ข้อมูลที่ได้จากสื่อสังคม จะต้องพิจารณาแยกแยะให้ได้…

ครับ…คงต้องอ้อนวอนกันอีกรอบ

เชื่อหมอ อย่าเชื่อหมา

หมาด่าเรื่องวัคซีน แต่ดันไปฉีดวัคซีนไม่บอกใคร

มันน่าเชื่อถือซะที่ไหนล่ะครับ


Written By
More from pp
“ไทยสร้างไทย” บุกยานนาวา เปิดหมู่บ้านประชาธิปไตย ขอ 50,000 รายชื่อ แก้รัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้ประชาชน
พรรคไทยสร้างไทย โดย น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย เก่ง การุณ อดีต ส.ส. กทม. เขตดอนเมือง, ...
Read More
0 replies on “เชื่อหมออย่าเชื่อหมา (อีกรอบ)-ผักกาดหอม”