ทีมนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประกอบด้วย นายสภาวุฒิ จันทร์โหนง น.ส.พิไรรัตน์ กิระนันทวัฒน์ นายจักรวรรดิ ร่วมพัฒนา และ น.ส.กมลวรรณ จันทร์มณี คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบฟาร์มเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางชีวภาพที่ดีในฟาร์มสุกรขนาดเล็กและขนาดกลางในภูมิภาคเอเชีย จากงาน “FAO-FAVA Regional Webinar in Celebration WAAW 2021” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จากผลงานที่มีชื่อว่า “Project 4S-CUVET swine farm”
สภาวุฒิ จันทร์โหนง นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนทีมนิสิตสัตวแพทย์ จุฬาฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบฟาร์มสุกรในครั้งนี้เปิดเผยว่า การประกวดออกแบบฟาร์ม “The WAAW Farm Design Challenge 2021” จัดโดยสมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเชีย (FAO-FAVA) เป็นการประกวดออกแบบฟาร์มด้วยระบบ Biosecurity หรือฟาร์มที่ มีระบบการจัดการและมาตรการทางกายภาพที่ดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุมโรค
โดยลดความเสี่ยงของการนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์มสุกรขนาดกลางและเล็ก มีความจุสุกรสูงสุด 5,000 ตัว เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาระบบ biosecurity ในฟาร์มสุกร และการเลี้ยงสุกรที่ดีตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (welfare) เกษตรกรสามารถดำเนินการและป้องกันโรคได้จริง โดยใช้ต้นทุนและงบประมาณที่คุ้มค่า มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและเป็นที่ยอมรับทางสังคม การประกวดในครั้งนี้มีนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจซึ่งมาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 19 ทีม โดยมี 6 ทีมจากประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้
สภาวุฒิเผยถึงจุดเด่นของผลงาน “Project 4S-CUVET swine farm” ว่า เป็นการออกแบบฟาร์มสุกรที่ตอบโจทย์การประกวดครั้งนี้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย 4 S คือ Smallholder (การออกแบบสำหรับฟาร์มสุกรขนาดเล็กและขนาดกลาง) Safe (การป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ) Sustainability (การนำมาใช้ใหม่ โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์) และ Smart (มีการเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในฟาร์ม เช่น การใช้หลังคาที่ทำจากหญ้าแฝก (vetiver grass) การใช้มูลสุกรมาทำถ่านชีวภาพ (biochar) ที่สำคัญคือการนำเสนอที่โดดเด่นน่าสนใจในรูปแบบวีดิโอ ความยาว 8 นาที ที่ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน เข้าใจง่าย
“ทีมของเรามีเวลาเตรียมตัวในการประกวด 1 เดือน ขั้นตอนการออกแบบฟาร์มสุกรเริ่มจากการทำความเข้าใจกับรายละเอียดและจุดประสงค์ของการประกวด เกณฑ์การตัดสิน การวางแผนการทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นำโดย อ.สพ.ญ.ดร.มรกต นันทไพฑูรย์ จากนั้นจึงเริ่มต้นการทำงาน
“พวกเราทั้ง 4 คนในทีมแบ่งหน้าที่กันตามความถนัดของแต่ละคน แบ่งออกเป็น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายทำโมเดล ฝ่ายตัดต่อวีดีโอ และฝ่ายทำเอกสารข้อมูลนำเสนอ การประกวดครั้งนี้มีความท้าทายความสามารถของพวกเราอย่างมาก เนื่องจากระยะเวลาที่กระชั้นชิดในการเตรียมตัวก่อนส่งผลงานเข้าประกวด การทำงานในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องสื่อสารผ่านทางออนไลน์ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมในเรื่องการผลิตวีดิโอเพื่อนำเสนอผลงาน อาจารย์ที่ปรึกษาได้ช่วยแนะนำแนวทางต่างๆ ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในความสำเร็จครั้งนี้” สภาวุฒิ กล่าว
สภาวุฒิได้เผยถึงประสบการณ์อันมีค่าที่ได้รับจากการเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม ได้เรียนรู้และลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เช่น การวาดผังฟาร์มสองและสามมิติ การตัดต่อวีดีโอ การเตรียมสคริปต์ ฯลฯ ได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียน ร่วมกับการสืบค้นข้อมูลและการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมาบูรณาการให้เกิดเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม