รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานมะพร้าวแปลงใหญ่ พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าว หมู่ที่ 2 ตำบลหน้าเมือง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 5,018,161.08 ไร่ คิดเป็น 62.13 ของพื้นที่จังหวัด มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ปาล์มน้ำมัน จำนวน 1,365,586 ไร่ มะพร้าว จำนวน 81,550 ไร่ ทุเรียน จำนวน 81,550 ไร่
โดยอำเภอเกาะสมุยเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตรมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำสวนมะพร้าวประมาณ 28,245 ไร่ จำนวน 1,883 ครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรทำสวนมะพร้าวประสบปัญหาการระบาดของศัตรูมะพร้าวในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
และในปี 2555 กรมวิชาการเกษตรได้รับงบประมาณจากกองทุนวิจัย จึงได้เริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่ระบาดของแมลงดำหนาม และจัดทำแผนที่การระบาด ต่อมาได้ดำเนินการเลี้ยงและปล่อยแตน แมลงดำหนาม พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรในพื้นที่เกาะสมุย
ปัจจุบันในพื้นที่สามารถดำเนินการเลี้ยงแตนเบียนได้เอง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอำเภอเกาะสมุยขึ้น ซึ่งการจากดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว โดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้การระบาดของแมลงดำหนาม หนอนหัวดำ ด้วงแรด และด้วงงวงลดน้อยลง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวนี้ มีจุดเด่นในการปลูกพืชผสมผสานเพื่อสร้างรายได้ เช่น การปลูกกล้วยน้ำว้า ไผ่ และพริกไทย ร่วมกับปลูกต้นมะพร้าว โดยมีนายวิศาล บรมธนรัตน์ เป็นประธานศูนย์ฯ โดยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 5 ไร่ ผลผลิต 1,584 กิโลกรัมต่อไร่ สมาชิก 51 ราย ดำเนินกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การปรับปรุงบำรุงดิน การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว
จากนั้น รมช.มนัญญา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ภายในงาน อาทิ นิทรรศการให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชของกรมวิชาการเกษตร และร่วมปล่อยแตนเบียนเพื่อป้องกันศัตรูมะพร้าว มอบใบรับมองมาตรฐานสินค้า GAP พืช และพืชอินทรีย์ ตลอดจนมอบชีวภัณฑ์ พันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตของกรมวิชาการเกษตร ให้กับเกษตรกร