สุภาษิต “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ใครไม่เป็นคงนึกภาพไม่ออก แต่สำหรับใครที่อยู่ในภาวะกลืนยากหรือมีญาติผู้ใหญ่ที่มีอาการแบบนี้ คงเข้าใจถึงความยากลำบากในการดูแล ซึ่งปัญหาการกลืนของผู้ป่วยมีหลากหลายรูปแบบ เช่น กลืนน้ำได้แต่กลืนอาหารไม่ได้ หรือกลืนน้ำไม่ได้แต่กลืนอาหารได้ หรือกลืนอะไรไม่ได้เลย ทำให้ความสามารถในการรับประทานอาหารด้วยตัวเองลดลง ส่งผลเสียต่อกระบวนการฟื้นฟู อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตแก่ผู้ป่วยได้ หากอาหารไปติดค้างที่หลอดลม หรือมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อจากการสำลัก
ดังนั้นการพาผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ภาวะการกลืนลำบากดีขึ้น เพราะนักกิจกรรมบำบัดจะช่วยประเมินอาการและวิธีทางการฟื้นฟูที่เหมาะสม โดย นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญพรเลิศ แพทย์แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ภาวะการกลืนลำบากเป็นอาการของโรคที่ส่งผลกระทบต่อการกิน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเคี้ยวไม่ได้ รู้สึกเหมือนมีอาหารติดที่ลำคอ มีอาหารเหลือค้างในช่องปากหลังกลืน มีเสียงเปลี่ยนหลังการกลืน จนถึงมีการสำลักระหว่างรับประทานอาหาร
สาเหตุของภาวะกลืนลำบาก มักมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดช่องปากหรือลำคอ ผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นอาการต่อเนื่องจากความเจ็บป่วย หรือมาจากความชร
แนวทางการบำบัดโดยการฝึกกลืน
- สอนผู้ป่วยรับประทานอาหารให้ถูกวิธี ถูกประเภท เช่น รับประทานอาหารให้คำเล็กลง จิบน้ำแบบคำเล็ก ๆ แทนการดื่ม หลีกเลี่ยงอาหารแข็งหรือเหนียวที่จะเสี่ยงต่อการติดคอหรือกลืนยาก หลีกเลี่ยงอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด และควรประเมินว่าผู้ป่วยเคี้ยวอาหารละเอียดหรือไม่ สำลักอาหารประเภทไหน เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารประเภทดังกล่าว
- ปรับระดับอาหารให้เหมาะสมตามความสามารถในการกลืนของผู้ป่วย
- ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแบบอ่อนกระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อในการกลืน
- จัดท่าทางในการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง โดยให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรง คอตรง ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และนั่งอยู่ในท่าที่ศีรษะสูง 90 องศา ขณะที่ผู้ป้อนอาหารให้ผู้ป่วยควรนั่งหรืออยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาของผู้ป่วย ไม่เร่งรัดผู้ป่วยในการกลืน ถ้ามีเสียงน้ำในคอหลังกลืนให้ผู้ป่วยกระเเอมไอหลาย ๆ ครั้งเพื่อป้องกันการสำลัก และผู้ป่วยควรอยู่ในท่านั่งศีรษะสูง 30 – 60 องศา อย่างน้อย 30 นาที หลังรับประทานอาหารเสร็จ หรือในบางรายอาจต้องเอนตัวประมาณ 60 องศา เพื่อการกลืนอย่างปลอดภัย แต่ต้องหลังจากการประเมินโดยแพทย์แล้ว
- ออกกำลังกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เช่น การบริหารกล้ามเนื้อรอบปากและลิ้น ด้วยการเม้มปาก ทำปากจู๋ ฉีกยิ้ม อ้าปาก และปิดปากสลับกันไป ฝึกออกเสียง “อา – อี – อู” เป็นต้น ส่วนการบริหารกล้ามเนื้อลิ้น นักกายภาพบำบัดจะให้ผู้ป่วยแลบลิ้นออกมาด้านหน้าให้มากที่สุด ใช้ปลายลิ้นแตะริมฝีปากบน แตะมุมปากทั้งสองข้างสลับกันซ้าย – ขวา ฝึกออกเสียง “ลาๆๆๆ ทาๆๆๆ” พร้อมกับบันทึกผลเพื่อวางแผนพัฒนาการฝึกต่อไป
- ดูแลความสะอาดของปากและฟันทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อขจัดเสมหะหรือเศษอาหารที่ตกค้างในช่องปาก ลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดปอดอักเสบได้
จะเห็นได้ว่า การกลืนลำบากถ้าไม่บำบัดอาจส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อจากการสำลักอาหารและน้ำ หรือทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้อาหารทางสายยาง เพราะภาวะปอดอักเสบจากการสำลักจะทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตได้