หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสนี้จะมีหลายสายพันธุ์ การติดเชื้อบางสายพันธุ์ก็มีอาการแสดงแตกต่างกัน และความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแตกต่างกันด้วย
นายแพทย์วรัญญู จิรามริทธิ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานีอธิบายว่า หูดหงอนไก่ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง เป็นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่จะพบได้มากในกลุ่มชายรักร่วมเพศและผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV โดยโรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง
อาการของโรคหูดหงอนไก่ จะพบก้อนเนื้อโตขึ้นผิดปกติบริเวณรอบรูทวารและสามารถเกิดภายในรูทวารได้ ก้อนเนื้อจะมีลักษณะขรุขระคล้ายกับหงอนของไก่ จึงเรียกชื่อว่า “หูดหงอนไก่” หากปล่อยไว้นาน ก้อนเนื้อจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การรักษาก็จะทำยากขึ้นตามขนาดของก้อนเนื้อ โดยผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่ยังมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งทวารหนักได้มากกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้น หากพบความผิดปกติจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา
หูดหงอนไก่เป็นโรคที่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย ซึ่งแนะนำให้ตรวจหาเชื้ออื่น ๆ ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย ได้แก่ HIV ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบชนิดบี โดยควรตรวจทั้งผู้ป่วยและคู่นอน ซึ่งหากตรวจพบเชื้อเหล่านี้ ก็ควรตรวจหาเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมะเร็งทวารหนักด้วย
การรักษาโรคหูดหงอนไก่ ควรรับการรักษาทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อ โดยการรักษาเบื้องต้น จะเริ่มจากการทายา ซึ่งยาบางชนิดที่มีความเข้มข้นสูง จะสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อได้ดี การใช้ยาชนิดนี้สามารถทาเองได้ที่บ้าน แต่ต้องอยู่ภายใต้การสั่งจ่ายและการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะอาจมีการระคายเคืองหลังจากการใช้ยาได้ และในยาบางชนิดจะช่วยปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกัน หลังจากการรักษามีอัตราการหายอยู่ที่ 30-70%
การรักษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจี้ทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่มีการติดเชื้อออก โดยใช้ไฟฟ้าหรือความเย็น หลังจากการรักษามีอัตราการหายอยู่ที่ 50-80% แต่ในรายที่มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่มาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้อเยื่อออกเป็นบริเวณกว้างและใช้เนื้อเยื่อโดยรอบเข้ามาปิด และมีการศึกษาพบว่าการฉายแสง เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดขนาดก้อนได้โดยหลีกเลี่ยงการผ่าตัด
ในกรณีตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการเปลี่ยนเป็นมะเร็งทวารหนัก จำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องแม้จะรักษาหายแล้ว สำหรับในสายพันธุ์อื่น ๆ อาจกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องสังเกตตัวเองหลังจากได้รับการรักษาจนหายแล้ว
สำหรับการป้องกันโรคหูดหงอนไก่ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคและลดความรุนแรงของโรค ในการรับวัคซีนควรได้รับในช่วงอายุ 12 ถึง 24 ปี หรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกันในผู้ที่ได้รับเชื้อแล้ว แม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทั่วไปได้ แต่ในรายที่ตรวจไม่พบเชื้อแต่มีความเสี่ยงสูง (16 และ 18) วัคซีนอาจสามารถป้องกันการติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงได้
นายแพทย์วรัญญู จิรามริทธิ์
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี