เฒ่าจอมลักไก่!-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ก็ร่างมาเพื่อไม่ให้ผ่าน

พอไม่ผ่านสภา ก็ดูเอาว่าเกิดอะไรขึ้น

เรื่องนี้ “ไอติม” ไม่ได้ทำคนเดียว

ที่แน่ๆ “ไอติม” เป็นหุ่นเชิด แต่จะถูกหลอกด้วยหรือไม่นั้นต้องดูกันยาวๆ

เด็กรุ่นใหม่อย่าง “ไอติม” อาจบริสุทธิ์ใจ อยากเห็น ประชาธิปไตยไทยเบ่งบาน เหมือนทุ่งบัวตองเบ่งบานตอนหน้าหนาว

แต่สำหรับ “เฒ่าสามนิ้ว” อาจไม่ได้คิดแบบนั้น

ครับ…ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอติม ถูกสมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่คว่ำไปด้วยเสียง ๔๗๓ ต่อ ๒๐๖ เสียงตามความคาดหมายของทุกฝ่าย

ที่บอกว่าทุกฝ่าย ก็เพราะคนเสนอก็รู้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าถ้าผ่านไปได้ หมาคงออกลูกเป็นไก่

เจตนามันเป็นอย่างนั้นด้วยซ้ำ

พอสภาไม่ให้ผ่าน มันก็เข้าแผนที่วางไว้สิครับ และคนเริ่มเกมก็มีอยู่หลายคน

หนึ่งในนั้นคือ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”

เฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri ตอนนี้ทำหน้าที่ไม่ต่างจากศูนย์บัญชาการสามนิ้ว

ปล่อยประเด็นให้เด็กๆ เอาไปแชร์ต่อ

————

To return to ancient Absolute Monarchy time  means….

การต้องกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช นั้นหมายถึงว่า

๑.กลับไปสู่ยุค ปลายสมัย ร. ๕ (จุลจอมเกล้าฯ) คือประมาณ “การปฏิรูป” พ.ศ.๒๔๓๕ (๑๘๙๒) ซึ่งเปนยุคสูงสุดของพระราชอำนาจกษัตริย์ไทย เปนครั้งแรก และเปนการรวมอำนาจที่ศูนย์กลางที่องค์กษัตริย์ (centralization) อย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเปนสมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา  ธนบุรี หรือต้นรัตนโกสินทร์

๒.แต่จะตกต่ำ เสื่อมทรามลง อย่างรวดเร็ว ในสมัย ร. ๖  (มงกุฎเกล้าฯ) ที่เกิดการกบฏ/ปฏิวัติ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔/๕๕ หรือ ค.ศ.๑๙๑๒ ) หรือที่เรียกกันว่า “กบฏหมอเหล็ง” ของบรรดานายทหารหนุ่ม ๆ จากโรงเรียนนายร้อยทหารบก

๓.และจะตกต่ำลงอีกในสมัย ร. ๗ (ปกเกล้าฯ) ที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕/๑๙๓๒  โดยคณะราษฎร ที่นำโดยนายทหารบก ทหารเรือ ข้าราชการนักกฎหมาย และสามัญชนชาย จำนวนประมาณ ๑๐๐ คน

๔.สรุประบอบสมบูรณาญาสิทธิราช absolute  monarchy ของ “สยาม” (ที่จะต้องเปลี่ยนเปน “ไทย” นั้น) มีอายุเพียงจาก พ.ศ.๒๔๓๕-๒๔๗๕ (๑๘๙๒-๑๙๓๒) คือ ๔๐  ปีเท่านั้น (อาจจะอายุสั้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก้อเปนได้)

๕.ใน “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม” ฉบับ ๒๗ มิถุนา ๒๔๗๕ (ที่ถูกสอดใส่คำว่า “ชั่วคราว” ไว้นั้นจารึกไว้เปนหลักฐานว่า

“มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเปนของราฎรทั้งหลาย”

————-

เฒ่าจอมลักไก่!

จริงครับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑ บัญญัติว่า  “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

แต่ “ชาญวิทย์” ไม่อธิบายต่อว่ามาตรา ๒ เขียนไว้ว่าอย่างไร และเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญไทยฉบับหลังๆอย่างไร

มาตรา ๒ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ บัญญัติไว้แบบนี้ครับ

“ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ

๑.กษัตริย์

๒.สภาผู้แทนราษฎร

๓.คณะกรรมการราษฎร

๔.ศาล

จากนั้นประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับแรกคือ ฉบับปี ๒๔๗๕ มาตรา ๒ นำมาตรา ๑  และ ๒ ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว มามัดรวมกัน โดยบัญญัติว่า

“อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

นี่คือแม่บทของรัฐธรรมนูญทุกฉบับถัดมา

รัฐธรรมนูญที่ “ชาญวิทย์” และคณะอยากให้กลับนำมาใช้มากที่สุดคือรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๓ ก็บัญญัติว่า

“อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ฉบับที่บอกว่าเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ ต้องทำลายล้างนั้น มาตรา ๓ ก็เหมือน มาตรา ๓ รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ทุกคำ

แล้วจะจับประชาชนให้มาสู้รบกันทำไม

ก็เห็นชอบอกชอบใจที่ “ชลน่าน ศรีแก้ว” บอกว่า “ต้องไปสู้บนถนน”

เอาสิครับ “ชาญวิทย์” ต้องเดินนำหน้า

อย่าปล่อยให้เด็กไปตายแทน

เรื่องความตกต่ำที่ไล่มาเป็น พ.ศ.ก็ดีแล้วครับ แต่ก็น่าเสียดาย คนเป็นกูรูประวัติศาสตร์มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ  กลับถูกอคติบังตา พาใจมืดมน จนหมดสิ้น

ยุค ร.๕ ไทยต้องต่อสู้กับฝรั่งล่าอาณานิคม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เข้มแข็งเพราะ ร.๕ ทรงพระปรีชาสามารถ

แล้วมันใช่เรื่องที่ “ชาญวิทย์” ต้องนำมาเป็นประเด็นตั้งต้นเพื่ออธิบายให้ข้อมูลมุมเดียว ทำให้เด็กรุ่นหลังเข้าใจผิด เพราะตั้งธงไว้แล้วว่า ไม่เอา ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ทำไมกัน

หากมองว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชกาลที่  ๖ เสื่อมถอย ก็สามารถมองเช่นนั้นได้

แต่ในมุมกลับกัน “ชาญวิทย์” ต้องอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจด้วยว่า “ดุสิตธานี” เป็นเมืองจำลองรูปแบบระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๑ บริเวณพระราชวังพญาไท  ดุสิตธานีเป็นเมืองเล็กๆ มีเนื้อที่ ๓ ไร่ ตั้งอยู่บริเวณรอบพระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเมืองเล็กๆ คล้ายเมืองตุ๊กตา ประกอบด้วย พระราชวัง ศาลารัฐบาล วัดวาอาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล  ตลาดร้านค้า ธนาคาร โรงละคร ประมาณเกือบสองร้อยหลัง เพื่อเป็นแบบทดลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

โปรดให้มีพระธรรมนูญการปกครองลักษณะนัคราภิบาล ซึ่งเปรียบลักษณะของเมือง มีพรรคการเมือง 2 พรรค การเลือกตั้งนัคราภิบาล หรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมือง แบบระบอบประชาธิปไตย

ความเป็น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชกาลที่  ๗ มีความเข้มข้นน้อยลงไปอีกเป็นเรื่องจริง เพราะร่างรัฐธรรมนูญถึง ๒ ฉบับ

ฉบับแรกเป็นของพระยากัลยาณไมตรี “ฟรานซิส บี. แซร์”

อีกฉบับเป็นร่างของพระยาศรีวิสารวาจา

ทั้งหมดก็เพื่อปูพื้นฐานประเทศไทย ปกครองระบอบประชาธิปไตย

“ชาญวิทย์” มองข้ามข้อเท็จจริงในอดีตเหล่านี้ไปได้อย่างไร

หรืออยากลงถนนจริงๆ


Written By
More from pp
“มาร์ค พิทบูล” นักสู้เพื่อความเป็นธรรมจากโลกออนไลน์ ขึ้นแท่น แคนดิเดตนายกฯ พร้อมเรียกความเป็นธรรมคืนสู่ประชาชน
กว่าจะมาเป็นวันนี้ของ “มาร์ค พิทบูล” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย หมายเลข 49 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านเรื่องราวดราม่าในโลกออนไลน์สารพัด แต่ยังคงรักษาฐานแฟนคลับไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เพราะ...
Read More
0 replies on “เฒ่าจอมลักไก่!-ผักกาดหอม”