ผักกาดหอม
ว่าไป “ไอติม” ก็น่ารักดีนะ
ไม่ยอมพูดถึง แสนกว่าคน ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในห้องประชุมรัฐสภาวานนี้ (๑๖ พฤศจิกายน)
เพื่อจะบอกว่า อีกฝ่ายก็ไม่ควรอ้าง ๑๖ ล้านเสียง ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ร่วมกันผ่านประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐
ถ้าจะวัดก็ให้ไปวัดกันตอนร่างรัฐธรรมนูญของไอติมผ่านสภา แล้วลงประชามติ
จะได้เสมอกัน
อยากบอก “ไอติม” ว่า ก็แฟร์ดีครับ
เพราะ แสนกว่า กับ ๑๖ ล้าน ตอนนี้มันอ้างเกทับกันไม่ได้อยู่แล้ว
และอยากจะบอก “ไอติม” ว่า ปริมาณอาจตัดสินทุกอย่างทุกเรื่องบนโลกนี้ไม่ได้ ฉะนั้นอย่าได้กังวลเรื่อง ๑๖ ล้านเสียงไปเลย
ทุกเสียงยังอยู่ปกติสุขดีอยู่ และยังพอใจในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
แต่…ไอติม ควรไปดูโน้น…..ข้อเท็จจริง ที่เป็นจริง และที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง นั่นต่างหาก คือสิ่งที่ควรคำนึงถึงให้มาก
มันก็เหมือนการรบ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะหมด
แต่ร่างรัฐธรรมนูญของ “ไอติม” ที่ กุนซือปิยบุตร แสงกนกกุล คัดท้ายให้ รู้แค่ ไอติม กับ ปิยบุตร โดยไม่สนใจ “เขา” แล้วจะรบชนะได้อย่างไร
ก็เว้นเสียแต่ว่า ไม่ได้มีเจตนาแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก
มีเป้าหมายอื่นมากกว่า
ครับ…ก็เห็นชัดๆ ว่า การยัดร่างรัฐธรรมนูญที่เกาะขาประชาชน ๑๕๐,๙๒๑ คน เข้ารัฐสภา ทำเพื่อสร้างเงื่อนไขทางการเมืองชัดๆ
เป็นความอัปยศของพรรคเพื่อไทย เพิ่งดีใจเป็นกระดี่ได้น้ำ สามารถแก้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ใช้ระบบเลือกตั้งบัตร ๒ ใบไปหยกๆ
มาวันนี้บอกจะรับร่างรัฐธรรมนูญไอติมบูด ที่เสนอให้กลับมาใช้เป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว กับ ส.ส. ๓๕๐ เขต คำนวณ ส.ส.แบบปัดเศษ เจตนาสร้างเงื่อนไขทางการเมืองชัดๆ
แต่ก็เห็นว่าตั้งไว้เพื่อต่อรอง
ถ้ารับร่างแก้ไข ก็ให้แก้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบก็ได้
ดูเหมือนไม่เป็นปัญหา
แต่นี่คือปัญหาใหญ่
“ไอติม” ฟังนะ เพราะเมื่อกลับไปดู “เหตุผล” ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่าเจตนารมณ์สภาเดี่ยวนั้น ได้เพิ่ม บทบาทและกลไกให้สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี
สรุปคือ เมื่อไม่มี ส.ว. ก็ยัดดาบคมกริบใส่มือฝ่ายค้าน ไว้เชือดรัฐบาล
แต่…ไม่ทราบว่า “ไอติม” ลืมสิ่งที่คิดมาจากบ้านหรือเปล่าว่า ระบบเลือกตั้งที่แตกต่าง จะทำให้ผลของการเลือกตั้งแตกต่างออกไปด้วย
จำได้หรือเปล่าบัตร ๒ ใบ สร้างเผด็จการรัฐสภาโดยระบอบทักษิณ เพราะควบรวมซื้อ ส.ส.ยกพรรค
ต่อให้เพิ่มกลไกให้สภา คือฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลได้มีประสิทธิภาพขึ้น มันจะไปทำอะไรได้ หากสภาผู้แทนราษฎร เป็นเผด็จการรัฐสภาเพราะระบบเลือกตั้งที่เอื้อให้เป็นเช่นนั้นไปเสียแล้ว
แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ซื้อผักชีที่ตลาดสด คิดอยากจะต่อราคาก็ต่อ โดยไม่สนใจภาพรวมว่าจะเสียหายหรือไม่
ครับ…นี่คือปัญหาเรื่องวิธีคิด
รัฐธรรมนูญมันผูกโยงกันไปหมด อยากได้เสียงโหวต จนละทิ้งโครงสร้างที่อุตส่าห์คิดมาอย่างดีแล้ว คิดว่าถ่วงดุลดีแล้ว แทนที่จะได้รัฐธรรมนูญที่ดีตามที่คิดไว้ กลับได้รัฐธรรมนูญที่จะสร้างปัญหาเพิ่ม
เกิดรัฐสภาบ้าจี้เอาตาม “ไอติม” ใครจะรับผิดชอบ
ที่สำคัญประชาชน ๑๕๐,๙๒๑ คน เข้าใจเรื่องนี้ลึกซึ้งหรือเปล่า
เรื่อง ส.ว.ก็เช่นกัน
ก็ตามสโลแกนแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ล้ม โละ เลิก ล้าง” มันคือท่าทีไม่เป็นมิตร พร้อมแตกหัก
คนเสนอพร้อมท้ารบ
คนรับ จะให้นั่งพับเพียบอย่างนั้นหรือ?
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ควรได้ชื่อว่าเป็นฉบับเปิดศึกกับวุฒิสภาด้วยซ้ำ
แต่เอาล่ะเมื่ออยากได้สภาเดี่ยวแล้วคิดว่า มันคือแก้วสารพัดนึก สามารถแก้ปัญหาการสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้
ก็ลองไปดูความจริงกัน
อดีตจนถึงปัจจุบัน ช่วงที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว เกือบทั้งหมดเป็นช่วงหลังการรัฐประหาร แล้วมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว
ด้วยเหตุผลหลักในการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทนี้ เพื่อการสนับสนุนฝ่ายที่เข้าใช้อำนาจปกครองในช่วงเวลาดังกล่าว
ส่วนช่วงที่ใช้ระบบสภาคู่ ส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาปกติ
สภาที่สองหรือวุฒิสภา สมาชิกมาจากการแต่งตั้งได้แก่ วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๐, รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒, รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑, รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗, รัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑, รัฐธรรมนูญ ๒๕๒๔ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง คือ “พฤฒสภา” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๔๘๙ มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม
ครั้งแรกที่มีวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทางตรง คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยมีการปรับเพิ่มบทบาทอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาให้มากยิ่งกว่าวุฒิสภายุคใด ๆ ก่อนหน้านี้
แต่ถูกวิจารณ์หนักว่า เป็นสภาผัวเมีย
บทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ในฐานะเป็นสภาสอง ถกเถียงกันมานานโขแล้ว
โดยสรุปได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกวุฒิสภาซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง โดยการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรีนั้น มีบทบาทหลักที่โดดเด่นคือการเป็น “สภาตรายาง” “สภากลั่นกรอง” หรือ “สภาพี่เลี้ยง”
มาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บทบาทใหม่ของวุฒิสภา ที่กล่าวถึงกันมากคือ “สภาตรวจสอบ” ทั้งตรวจสอบสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงตรวจสอบฝ่ายบริหาร และองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐอื่น ทั้งศาล และองค์กรตรวจสอบอิสระต่างๆ ด้วย
ส.ว.เลือกตั้งมีผลงานพอควร แต่บางส่วนนอกคอก ตั้งมุ้งรับใช้พรรคการเมือง รับเงินเดือนจากนักการเมืองฝั่งรัฐบาล
เพราะการเลือกตั้งในไทยยังมีปัญหาแทบทุกระดับ ตัวแทนของประชาชนมิได้ทำเพื่อประชาชน แต่หาประโยชน์เพื่อตัวเองเป็นหลัก
จริงอยู่ การจัดโครงสร้างระบบรัฐสภา ในรูปแบบที่เรียกว่า “สภาคู่” ที่เหมาะสม ลงตัวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และแทบไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต
แต่ก็มิได้เป็นเหตุให้ต้องใช้สภาเดี่ยว ที่จะมีปัญหาเรื่องการควบคุม ถ่วงดุล จนสภาผู้แทนฯ กลายเป็นสภาคณาธิปไตยตามมาในภายหลัง
การอ้างว่าต่างประเทศทยอยยกเลิกสภาคู่ ใช้สภาเดี่ยวกันเยอะแล้ว ก็มีคำถามว่า สภาเดี่ยวคือ สภาผู้แทนราษฎรของไทย สามารถไว้ใจในเรื่องการใช้อำนาจได้แค่ไหน
สภาผู้แทนฯ คิดจะฏิรูปตัวเองแล้วหรือยัง
ซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง มันน้อยลงไปแล้วหรือยัง
สภาผู้แทนฯ เองก็ควรมีคำตอบให้ประชาชนเช่นกัน แต่ก็ไม่เห็น ส.ส.หน้าไหนพูดถึง
และ “ไอติม” อย่าลืมนะครับ วุฒิสภาชุดปัจจุบัน เป็นแค่ชุดขัดตาทัพตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เหลือเวลาอีก ๒ ปีกว่าก็จะสิ้นวาระลง แล้วกลับไปใช้บทบัญญัติปกติ
คือ วุฒิสภา ที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม
คสช.ไม่เกี่ยวแล้ว
ถึงวันนั้น “ไอติม” อยากเป็น ส.ว.ก็ไปสมัครได้