ยังสำนึกไม่ทัน ‘รุ้ง-เครือข่าย3นิ้ว’ เมินคำตัดสินศาลรธน. เสนอ 10 ข้ออ้างปฏิรูปสถาบันฯ

10 พ.ย.2564 – ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การปราศัยของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร เมื่อวัน 10 ส.ค. 2563 ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยกระทำกันเป็นเครือข่าย ขบวนการอย่างต่อเนื่อง และศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คนและกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าว

นางสาวปนัสยา ได้อ่านแถลงการณ์ว่า ข้าพเจ้าขอส่งสารนี้ด้วยใจจริงถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกท่าน เนื่องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รุ้ง พี่อานนท์ และพี่ไมค์ได้กล่าวถึงในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ 2563 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า … ข้าพเจ้าขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ข้อเรียกร้องของพวกเรา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เบื้องตัน ข้าพเจ้าเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยจิตวิญญาณอันชื่อตรงต่อหลักนิติธรรม ข้าพเจ้าเห็นว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่อาจยอมรับได้ เพราะขาดซึ่งความชอบอย่างยิ่งด้วยกระบวนพิจารณาคดี

ด้วยเหตุว่า กฎหมายได้ระบุให้การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ให้ใช้ระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจแสวงหาพยานหลักฐาน เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้เสนอพยานหลักฐาน เพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตามหลักนิติธรรม และเป็นสิทธิของคู่ความที่ พึงมีในกระบวนยุติธรรม และแม้ศาลจะสามารถใช้ดุลพินิจเพื่อแสงหาข้อเท็จจริง แต่การใช้ดุลพินิจนั้น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม แต่ทั้งนี้ในทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลกลับไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ไม่ยอมให้นักวิชาการเข้าให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยศาลได้ให้เหตุผลว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน แม้จำเลยจะได้มีการยื่นร้องขอต่อศาลให้มีการไต่สวนแล้วก็ตาม

ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว และขอเน้นย้ำอย่างบริสุทธิ์ใจว่า ข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ดังที่นาย ณฐพร โตประยูร กล่าวอ้าง และในทางกลับกันข้าพเจ้ากลับเห็นว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมจะส่งผลเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง และเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์เจริญวิวัฒน์พัฒนาสถาพรขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงยังขอยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ที่ว่า

ข้อ 1.ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ
ข้อ 2.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ข้อ 3.ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561
ข้อ 4.ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์
ข้อ 5.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์
ข้อ 6.ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
ข้อ 7.ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
ข้อ 8.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียว
ข้อ 9.สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎร
ข้อ 10.ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ข้อเสนอต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ 10 ข้อนี้ ล้วนแต่เป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริต ด้วยความปรารถาดีที่ต้องการจะให้สถาบันกษัตริย์ของไทย มีความชอบธรรมและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสง่างาม ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล

ทั้งนี้ ในส่วนของ การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญามาตรา 112 มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองในระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่ย่อมเป็นไปเพื่อให้การส่งเสียงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นกัลยาณมิตรสามารถเป็นไปได้ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 1 12 เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุว่าประชาชนผู้เป็นแหล่งที่มาของอำนาจอธิปไตย ย่อมเป็นผู้ทรงอำนาจในการสถาปนาและแก้ไขกฎหมายทั้งปวงเพราะเมื่อได้ชื่อว่ากฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในลำดับศักดิ์ใด กฎหมายย่อมสามารถถูกแก้ไขได้ตามเจตจำนงของประชาชนผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ภายใต้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังที่มีการบัญญัติรับรองไว้ ตามมาตรา 133 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการวินิจฉัยคดีนี้เกิดขึ้นแล้ว และผลได้ปรากฏออกมาดังที่ทุกท่านทราบข้าพเจ้าขอให้การตัดสินวินิจฉัยในครั้งนี้ จงถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ว่าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งควรมีหน้าที่สำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รักษาดุลยภาพแห่งอำนาจ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้วินิจฉัยว่า การเรียกร้องให้เกิดการการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หมายถึงการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้คำตัดสินดังกล่าว

อันพวกท่านทั้งหลายมีส่วนร่วมหรือสนับสนุน จงเป็นกระจกสะท้อนต่อเบื้องลึกในจิตใจของท่านทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกลัวต่อสภาพอันเปราะบางที่ดำรงอยู่ ซึ่งพวกท่านต่างรู้ได้ด้วยมโนสำนึก และผ่านการกระทำของท่าน และขอให้ท่านทราบว่า พวกท่านกำลังมีส่วนในการขัดขวางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สถาบันสามารถดำรงอยู่อย่างสง่างาม ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันด้วยใจอันเห็นประโยชน์แห่งมหาชนเป็นที่ตั้งว่า หนทางที่ดีที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการกดปราบ คุกคาม หรือการพยายามสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว แต่คือการพยายามร่วมมือกันจาก ทุกภาค ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ทุกความคิดทางการเมือง ทั้งฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายอนุรักษ์นิยม และจากทุกองคาพยพของรัฐ ทั้งองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร องค์การตุลาการ องค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถดำเนินไปจนประสบผลสำเร็จสถาพรได้จริง อันจะเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเป็นเหตุแห่งความเจริญพิพัฒน์วัฒนาของสถาบันกษัตริย์ควบคู่กับสถาบันประชาชน ตามการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงต่อไป.


Written By
More from pp
0 replies on “ยังสำนึกไม่ทัน ‘รุ้ง-เครือข่าย3นิ้ว’ เมินคำตัดสินศาลรธน. เสนอ 10 ข้ออ้างปฏิรูปสถาบันฯ”