กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยความสำเร็จกิจกรรมวันโอโซนสากลประจำปี 2564 ร่วมมือกันปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน เพราะ “โอโซนดี ชีวิตก็ดี”

จากวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ในงานวันโอโซนสากล ประจำปี พ.ศ. 2564 ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามพันธกิจของพิธีสารมอนทรีออลเพื่อดำเนินการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้จัดกิจกรรมวันโอโซนสากล โดยในปีนี้ใช้สโลแกน “โอโซนดี ชีวิตก็ดี” เพื่อสื่อสารให้กับประชาชนคนไทยได้รับรู้และรับทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศโอโซน ทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.วิรัช วิฑูรย์เธียร ที่ปรึกษาด้านอนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารมอนทรีออล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ซึ่งทำงานด้านอนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารมอลทรีออลมามากว่า 30 ปี และอดีตเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมจากธนาคารโลก เปิดเผยว่า

“ชั้นบรรยากาศโอโซน อยู่ระดับ 10 – 15 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเล ทำหน้าที่ดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตโดยเฉพาะ UVB และ ซึ่งรังสี UVB มีบางส่วนสามารถเล็ดลอดลงมายังพื้นโลกได้ และถ้าหากชั้นบรรยากาศโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์มีน้อยลง ก็จะยิ่งส่งผลให้ปริมาณรังสี UVB สามารถเข้ามายังโลกของเราได้มากขึ้น

ถ้าชั้นบรรยากาศโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ ลดลงไปแค่ 1% ก็จะเท่ากับว่าโอกาสที่เราจะได้รับรังสี UVB จะมากขึ้นถึง 2% โอกาสที่เราจะเป็นมะเร็งผิวหนังก็มีมากขึ้น 3 – 6% และหากรังสี UVB เข้ามายังพื้นโลกได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ทั้งมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณ โดยเฉพาะกับผิวหนังมนุษย์นั้น รังสี UVB สามารถเข้ามาเปลี่ยน DNA ทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรก็จะลดลง เพราะพืชเกิดผลกระทบในกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง ทำให้พืชเติบโตช้า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะอยู่ที่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทำให้โลกเสียสมดุล

ด้วยเหตุนี้ หากเรายังไม่ช่วยกันปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน คาดว่าหลังจากปี 2030 มนุษย์จะเป็นมะเร็งผิวหนัง ซึ่งอาจจะมีมากขึ้นถึง 2 ล้านรายทั่วโลกต่อปี และยิ่งไปกว่านั้น สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกาประเมินว่าจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคตาต้อกระจก จากปี ค.ศ.1987 จนถึงปี ค.ศ. 2100 จะมีเพิ่มมากขึ้นกว่า 63 ล้านคน

ผลจากข้อมูลบ่งชี้ว่ากว่า 50% ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาต้อกระจก จะนำไปสู่การตาบอดได้ในที่สุด และจากผลการศึกษา สถิติจากปี ค.ศ. 1987 – 2006 รังสี UV ที่ส่องลงมายังโลกมากเกินไป ยังทำให้สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเสื่อมสภาพเร็วขึ้น คาดว่ามูลค่าการสูญเสียมากกว่า 4.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

ภายในปี ค.ศ. 2070 ถ้าหากไม่มีพิธีสารมอนทรีออล โลกของเราก็ยังคงมีการใช้สารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) และสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) สารเหล่านี้จะมีผลให้อุณหภูมิโลกอาจสูงเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส เพราะสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนจะถูกผลิตออกมาเรื่อยๆ เกิดผลกระทบกับชั้นบรรยากาศโอโซน และส่งผลสืบเนื่องไปสู่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่วิกฤติปัญหาต่างๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ การรณรงค์และดำเนินการในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีการเลิกใช้สารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) รวมทั้งลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) ไปแล้วกว่า 98.6% สำหรับ 1.4% ที่เหลืออยู่ ก็คือสาร HCFC ที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันเลิกใช้ ในปี พ.ศ. 2573

ในส่วนของภาครัฐ ในประเทศไทย ได้ดำเนินการกิจกรรมห่วงใยโอโซนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2540 ประเทศไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรก ที่มีกฎหมายห้ามไม่ให้มีการนำเข้าและใช้น้ำยาสาร CFC ในการผลิตตู้เย็นที่ใช้ในครัวเรือน ถือเป็นก้าวสำคัญที่เราดำเนินการภายหลังจากประเทศที่พัฒนาแล้วมีการเลิกใช้สาร CFC ไปเพียง 1 ปี เท่านั้น และในปี 2541 ประเทศไทย ดำเนิน

โครงการครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศระบบซิลเลอร์ (Chiller) ซึ่งเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมโรงแรม และในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเชื่อมโยงการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เข้าไว้ด้วยกัน ก่อนที่จะมาเป็นที่สนใจของคนทั่วทั้งโลกในขณะนี้

และสิ่งสำคัญไปกว่านั้นประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ 2 หรือเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เปลี่ยนสารทำความเย็น หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “น้ำยาแอร์” จาก R22 มาเป็น R32 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำความเย็นสูง ไม่ทำลายชั้นโอโซน และยังทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถขยายกำลังการส่งออกเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นไปยังประเทศพัฒนาแล้วได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ถึงแม้ว่าปัญหาชั้นบรรยากาศโอโซนจะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ใกล้ตัวเรามาก เช่น มะเร็งผิวหนัง ตาต้อกระจก หรือแม้กระทั่งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และยังส่งผลกระทบในภาคเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจอีกด้วย

ที่สำคัญการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนเราทุกคนสามารถทำได้ด้วยการหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่ ให้ดี มีการซ่อม บำรุงอย่างถูกวิธีโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ จะส่งผลให้อุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าของเราใช้งานได้นานขึ้น ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายได้ผลประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและต่อโลก เรียกว่า Win-Win ทั้งโลก ทั้งเรา” ดร.วิรัช วิฑูรย์เธียร กล่าวทิ้งท้าย


Written By
More from pp
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ผนึก บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล ตอบแทนพระคุณและขอบคุณ…คุณครู มอบความสุขให้คุณครูทั่วประเทศ 16 มกราคมนี้…ดูหนัง รับป๊อปคอร์น โยนโบว์ลิ่ง ฟรี!!
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ผนึก บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล ตอบแทนพระคุณและขอบคุณ…คุณครูผู้ให้ความรู้ ในวันครูแห่งชาติ 16 มกราคมนี้...
Read More
0 replies on “กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยความสำเร็จกิจกรรมวันโอโซนสากลประจำปี 2564 ร่วมมือกันปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน เพราะ “โอโซนดี ชีวิตก็ดี””