น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านพยายามอ้างมาตรา 158 วรรค 4 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี
มาปลุกปั่นกระแสสังคมเพื่อลดทอนความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านถนัดและดิ้นรนจะทำเพราะไม่สามารถหาจุดบกพร่องในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ ได้
จึงต้องไปเอากฎหมายมาตีความกระท่อนกระแท่น เอามาบางส่วนในแต่ละมาตรามาโจมตีนายกฯ เพราะถ้าอ่านมาตรา 158 และมาตรา 264 ทั้งมาตราก็จะเข้าใจได้อย่างเป็นปกติว่า การนับอายุดำรงตำแหน่งนายกฯ เริ่มขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อพล.อ. ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรค 2 ที่บุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า บทบัญญัติของมาตรา 158 ทั้งมาตรา ที่มี 4 วรรค คือ วรรคหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
วรรคสอง นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159
วรรคสาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
วรรคสี่ นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือมาตรา 158 วรรค 2 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 และเมื่อประกอบมาตรา 272 แล้วต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88
ดังนั้นความมุ่งหมายของมาตรา 158 ทั้งมาตราเป็นการบัญญัติพระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในการนับเวลา 8 ปีตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ว่าจะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแต่ต้องเป็นตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้และเป็นนายกฯ ที่มาตามมาตรา 158 วรรค 2 ที่ต้องผ่านขั้นตอนการเสนอชื่อโดยกระบวนการตั้งแต่ประชาชนตามมาตรา 159
ซึ่งรัฐธรรมนูญปีไหนก็ยังไม่มี เมื่อจะใช้กฎหมายมาตรานี้ก็ต้องอ่านทั้งมาตรา จะเอาวรรค 4 วรรคเดียวมาอ้างแบบกระท่อนกระแท่นบางส่วนไม่ได้ การนับเวลา 8 ปีตามมาตรา 158 วรรค 4 ต้องนับจากนายกรัฐมนตรีที่มาตามมาตรา 158 วรรค 2 ด้วย
“ส่วนมาตรา 264 วรรค 1 ที่บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่…”
ก็มีความหมายตามตัวบทคือ ครม.ก่อนหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งครม.ก็ต้องรวมถึงนายกฯ ด้วย แสดงว่านายกฯ คนปัจจุบันก็เพิ่งมีสถานะเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และหากพิจารณาตามเจตนารมณ์นั้น เมื่อดูจากหนังสือความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หน้า 483 ก็บอกความมุ่งหมายของมาตรานี้ทั้งมาตราชัดเจนว่า
เป็นเพียงการบัญญัติกำหนดให้ครม. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีครม. ชุดใหม่ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการอันเป็นกรณีที่ใช้บังคับแก่ครม. ซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะเท่านั้น
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า การตีความมาตรา 264 วรรค 1 ไม่ได้เป็นไปตามที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พยายามบิดเบือนว่าเป็นมาตราที่ให้นับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 เพราะไม่ได้เป็นมาตราที่พูดถึงการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งเลย ไม่มีตรงไหนบัญญัติเรื่อง “การให้นับระยะเวลา” ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเลย ดังนั้นจะมาอ้างว่ามาตรา 264 กำหนดไว้ชัดเจนให้นับย้อนตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ไม่ได้
จึงอยากให้นายธีรัจชัยและฝ่ายค้านหยุดบิดเบือนการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อปลุกปั่นกระแสสังคมและลดทอนความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ. ประยุทธ์ อย่าลดมาตรฐานการทำงานตรวจสอบของฝ่ายค้านจนทำให้ประชาชนเห็นชัดว่าไม่สามารถหาจุดบกพร่องในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ ได้ ถึงขนาดต้องจนตรอกบิดเบือนกฎหมายจนสังคมสับสน
“และไม่ว่าการสับสนครั้งนี้ จะนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตีความอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การคาดการณ์มาตรา 158 แบบล่วงหน้าของฝ่ายค้านจนสังคมสับสนนั้นมีเหตุผลเดียวคือ ‘กลัว’ กลัวว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีประชาชนเลือกพรรคที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช่หรือไม่
หากเป็นเช่นนั้น ก็อย่างเพิ่งกลัวไปก่อน เพราะไม่มีใครทราบว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร สิ่งเดียวที่ฝ่ายค้านควรจะทำเสียตั้งแต่วันนี้คือ ไม่บิดเบือนข้อมูล ไม่ใส่ร้ายป้ายสีคนทำงาน และต้องมีจิตใจช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากใจจริงก็พอ เพราะสิ่งที่ฝ่ายค้านพยายามชี้นำประเด็น มาตรา 158 ก็ยังมาไม่ถึง จงทำปัจจุบันให้ที่สุดจะดีกว่า” น.ส. ทิพานัน กล่าว